|
เปิดประวัติมอเตอร์ไซค์ XSR Series ความคลาสสิกและโมเดิร์น ที่ลงตัว
ในช่วงประมาณปี 2010 เป็นต้นไป กระแสความนิยมในการปลุกชีพรถคลาสสิกคันเก่า หรือการปรับแต่งรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิกนั้น เริ่มพัฒนาจนเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นความตรงข้ามกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการออกแบบของรถมอเตอร์ไซค์ในยุคนั้น แต่ตรงกันข้ามกับที่ทาง Yamaha ได้เปิดตัว XSR700 และ XSR900 รถรุ่นใหม่ในแนว “นีโอเรโทร” หรือ “โมเดิร์นคลาสสิก” เมื่อปี 2016
|
|
เส้นทางที่ Yamaha เลือกนั้นถือว่าแตกต่างไปจากคู่แข่ง โดยมีการนำเอาแนวความคิดที่มาจากสุภาษิตของญี่ปุ่นที่ว่า “ออนโคชิชิน” ซึ่งหมายถึง “การศึกษาสิ่งเก่า เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ให้ดีขึ้น” โดย Yamaha ไม่เพียงแต่จะรื้อฟื้นโมเดลที่โดดเด่นจากประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่พวกเขายังให้ความเคารพต่อต้นกำเนิด และในขณะเดียวกันก็สร้างคุณค่าให้สมกับเป็นรถมอเตอร์ไซค์สมัยใหม่อีกด้วย
รถรุ่นต่างๆ ของ MT Series ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มของ XSR พัฒนามาสู่ XSR Series ที่ให้ความรู้สึกของงานดีไซน์ รูปแบบ และการขับขี่ที่เป็นของตัวเอง เริ่มต้นด้วย XSR700 และ XSR900 ก่อนที่จะเพิ่มเติมมาสู่ XSR155 และ XSR125 โดยในตอนนี้ XSR Series เป็นที่รักและยอมรับจากนักขี่ทั่วโลก ที่ชื่นชอบความคลาสสิกและต้องการความทันสมัยของฟีเจอร์ต่างๆ ในตัวรถ
|
จุดเริ่มต้น : การตีความใหม่ของคำว่า “นีโอเรโทร”
|
|
ในยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่นในช่วงปี 2010 มีผู้คนจำนวนมากที่ชื่นชอบการค้นหา ซ่อมแซม และปรับแต่งรถมอเตอร์ไซค์คลาสสิก จนกลายเป็นเรื่องที่ปกติมากขึ้นเรื่อยๆ โดยวัฒนธรรมในการฟื้นฟูรถคลาสสิกคันเก่าเหล่านี้ ให้กลับมาโลดแล่นบนท้องถนนนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ก็เริ่มปรากฏให้เห็น จากการตีความใหม่ของผู้สร้าง โดยเราจะได้เห็นทั้งรถในแนว คาเฟ่ เรเซอร์, ชอปเปอร์, บ็อบเบอร์ และแนวคัสตอมปรับแต่งเองแบบอื่นๆ
เหตุใดผู้คนจึงหลงใหลรถในแนวคลาสสิก? Yamaha เชื่อว่าคำตอบอยู่ที่ว่า รถมอเตอร์ไซค์คลาสสิกนั้น ให้อิสระแก่ผู้ขับขี่ ในการเลือกทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง และก็ถึงเวลาแล้ว ที่ Yamaha จะสร้างมอเตอร์ไซค์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้คนอย่างแท้จริงอีกครั้ง
|
|
นี่คือสิ่งที่กระตุ้นทีมพัฒนาเป็นอย่างมาก ในความท้าทายสำหรับการสร้างรถมอเตอร์ไซค์เนกเกตในสไตล์นีโอเรโทร ตั้งแต่เริ่มแรก แนวคิดนี้ไม่ใช่การฟื้นฟูรถรุ่นเก่า แต่เป็นการนำเอาเครื่องยนต์ที่ทันสมัย มาใส่ในตัวถังที่มีสไตล์ย้อนยุค จากในอดีตของ Yamaha การผสมผสานระหว่างแชสซีและเครื่องยนต์ คือสิ่งที่กำหนดการขับขี่และประสิทธิภาพของตัวรถ และทางทีมงานมุ่งมั่นที่จะสร้างรถแนวเนกเกต ที่จะมีลักษณะของเครื่องยนต์ที่ล้ำสมัย แม้ว่าจะอยู่ในรูปลักษณ์ความคลาสสิกก็ตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันจะต้องใช้งานได้ดีด้วย
|
|
MT Series ที่ในขณะนั้นอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยรุ่นอย่าง MT-07 นั้น ได้ทำการติดตั้งเครื่องยนต์ CP2 แบบใหม่ทั้งหมด ส่วน MT-09 ได้ติดตั้งเครื่องยนต์ CP3 ที่ล้ำสมัย ติดตั้งอยู่ในเฟรมอลูมิเนียมหล่อแบบ CF ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดของ Yamaha ซึ่งไม่เพียงแต่ตัวแชสซีที่มีน้ำหนักเบา เพรียวบาง และกะทัดรัดแล้ว แต่มันยังให้ประสบการณ์การขับขี่ที่ขับเคลื่อนไปด้วยแรงบิดที่น่าตื่นเต้นอีกด้วย
|
|
ปัญหาที่แท้จริงที่จะต้องจัดการกับรถรุ่นใหม่ในแนวนีโอเรโทร (XSR Series) นั้นก็คือ รูปแบบภายนอกและการควบคุมของตัวรถ หลังจากทีมพัฒนาได้เจาะลึกลงไปในแนวคิดนี้ พวกเขาได้ค้นพบว่า สิ่งที่พวกเขาแสวงหานั้น ไม่ได้อยู่ที่คำว่า “วินเทจ” หรือ “คลาสสิก” แต่เป็น “เฮอริเทจ” (มรดก) โดยการศึกษารูปแบบและรูปทรงของบรรดารถแข่งในอดีตของทาง Yamaha อย่างรอบคอบ และถามตัวเองว่าทำไมแต่ละรุ่น จึงมีรูปทรงเป็นอย่างนี้ๆ และทำการค้นหาคำตอบเหล่านั้น
|
|
ในที่สุดก็เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่ตัวถังภายนอก ไปจนถึงส่วนประกอบต่างๆ รถรุ่นเก่าเหล่านี้อัดแน่นไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความเฉลียวฉลาดของนักพัฒนา โดยโมเดลที่พวกเขาพิจารณาอย่างละเอียดนั้นได้แก่ รถมอเตอร์ไซค์ 4 จังหวะคันแรกของ Yamaha นั่นก็คือ XS-1 RZ250 และ 350 ซึ่งมีชื่อเสียงในฐานะรถแข่ง SR400 และ 500 ที่มีความเรียบง่ายมาตลอดระยะเวลา 50 ปี, SRX400 และ 600 ที่สวนกระแสความนิยมของรถในยุคนั้น หรือแม้กระทั่ง Vmax ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นเอามากๆ สิ่งที่โมเดลต่างๆ เหล่านี้มีเหมือนกันก็คือ ความจริงที่ว่ารถทุกรุ่นต่างก็แสดงให้เห็นถึงฟังก์ชั่นการทำงานและประสิทธิภาพอย่างชัดเจน
|
|
การขับขี่นั้นมีความสำคัญเป็นอันดับแรก และเฟรมจะเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมรถมอเตอร์ไซค์ XSR จึงต้องถูกพัฒนามาจาก MT Series ที่โดดเด่นตรงนี้ แต่มีการออกแบบถังเชื้อเพลิงทรงหยดน้ำ ที่ดูแตกต่างไปจากถังเชื้อเพลิงในรุ่นวินเทจและเรโทรหลายๆ รุ่น
|
|
“เฮอริเทจ” (มรดก) ในกรณีนี้หมายถึงอะไรกันแน่? มีรุ่นหนึ่งที่บอกเป็นนัยสำคัญก็คือ SR ที่มีการออกแบบแสนจะเรียบง่ายและไม่มีอะไรซับซ้อน โดยข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ได้รับความชื่นชมจากนักบิดมาอย่างยาวนาน แม้ว่าเวลาจะผ่านไป 50 ปีหลังการเปิดตัวก็ตาม การตระหนักรู้ตรงนี้ ทำให้ทีมพัฒนา XSR Series นั้น ได้เป็นอิสระจากพันธนาการของคำว่า “ย้อนยุค” “คลาสสิก” หรือ “วินเทจ” โดยจากการตรวจสอบรถแข่งยุคเก่าของ Yamaha นั้น พบว่ามีการตัดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นออก และยังมีการตกแต่งที่ทนทาน โดยชิ้นส่วนอะลูมิเนียมจะถูกเปิดทิ้งไว้ และทำการเจาะรูเพื่อลดน้ำหนัก นี่คือแนวคิดในการออกแบบบางส่วน ที่ทางทีมงานจะเอามาใช้ใน XSR Series รวมไปถึงมาตรวัดความเร็วแบบทรงกลม ก็ยังชวนให้นึกถึงรถแข่งของ Yamaha ในอดีตอย่าง TD และ YZR
|
|
โดยสรุปแล้ว การออกแบบ XSR Series นั้น ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่มันเป็นการศึกษาเชิงลึก เกี่ยวกับการพัฒนา ทดลอง และการผลิต และประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกด้วย XJR1300 Racer ที่ออกจำหน่ายในยุโรปเมื่อปี 2015 ในชื่อรุ่นว่า "Sport Heritage" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสไตล์ของตัวรถ ที่เน้นเส้นแนวนอน ช่องหนีบเข่าที่ลึกในถึงน้ำมัน รูปทรงของเบาะนั่ง ฝาครอบด้านข้าง แฟริ่งไฟหน้า และจุดเชื่อมต่อต่างๆ ของตัวรถ ทำให้มันออกมาตามแนวคิดและความตั้งใจของผู้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์
|
ความก้าวหน้าของ XSR Series มรดกที่ได้รับการเปิดเผย
|
|
และสองรุ่นแรกในฐานะของ XSR Series ได้รับการเปิดตัวตามมาอย่างรวดเร็ว โดย XSR700 ในปี 2016 และ XSR900 ในปี 2017 โดย XSR700 นั้น มีพื้นฐานมาจาก MT-07 ใช้โครงหลักที่ทำจากเหล็กที่มี่น้ำหนักเบา เพรียวบาง และกะทัดรัด บวกกับเครื่องยนต์ CP2 -okf 689cc ข้อเหวี่ยง 270 องศา เพื่อจุดระเบิดให้ไม่สม่ำเสมอกัน ทำให้ได้แรงบิดที่น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงหลักๆ เลยก็คือ การขับขี่ในสไตล์โมตาร์ดของ MT-07 ได้ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นการขับขี่ในแนวสปอร์ตคลาสสิก โดยการขยายถังน้ำมันเชื้อเพลิงให้ยาวขึ้นเล็กน้อย เปลี่ยนตำแหน่งของแฮนด์ ที่พักเท้า และเบาะนั่ง เพื่อให้มีการโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้ XSR700 นั้น มีความสนุกสนานในการขับขี่ที่แตกต่างไปจาก MT-07
|
|
ในขณะเดียวกัน XSR900 ที่มีขนาดใหญ่กว่า ได้เปิดตัวโดยใช้แพลตฟอร์มของ MT-09 ในยุคนั้น ด้วยเฟรมอะลูมิเนียมหล่อแบบ CF ที่มีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแกร่งสูง บวกกับเครื่องยนต์ CP3 ขนาด 847cc และเช่นเดียวกับ XSR700 เจ้า XSR900 นั้นได้รับการดัดแปลงลักษณะการขับขี่ของตัวรถให้มีความสปอร์ตคลาสสิกเช่นเดียวกัน แต่ยังคงรักษาสมรรถนะอันน่าตื่นเต้นของ MT-09 เอาไว้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของแรงบิดที่หนักแน่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะให้ประสบการณ์ความสนุกในการขับขี่ที่แตกต่างออกไปจากตระกูล MT Series อย่างชัดเจน
|
|
|
นับตั้งแต่การเปิดตัวตามลำดับ ทั้ง XSR700 และ 900 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยหลังจากนั้น รวมไปถึงการใช้โทนสีใหม่อย่างสีเหลืองและสีดำ อันเป็นเอกลักษณ์ของ YZR ที่ Kenny Roberts ใช้ รวมถึงสีแดง สีดำ และสีทองของ RZs แต่หลังจากนั้นในปี 2020 XSR900 ก็ได้รับการออกแบบใหม่หมดทั้งคันแบบ All New เป็นครั้งแรก
|
|
XSR Series นั้น ได้เติบโตและมีรุ่นใหม่กำเนิดขึ้นในปี 2019 ด้วยการเปิดตัว XSR155 ในประเทศไทยและอินโดนีเซีย โดยใช้พื้นฐานที่มาจาก MT-15 จากนั้นก็ตามด้วย XSR125 ที่มีพื้นฐานมาจาก MT-125 ในยุโรปเมื่อปี 2022 โดยทั้งคู่ใช้แพลตฟอร์มของ MT Series แต่ถ้าเจาะให้ลึกลงไป ทั้ง MT-15 และ MT-125 กลับมีพื้นฐานที่มาจาก R Series ซึ่งนั่นหมายความว่าทั้ง XSR155 และ XSR125 มันได้รับการสืบทอด DNA ในการควบคุมแบบสปอร์ตนั่นเอง และเครื่องยนต์ทั้งสองรุ่นยังมีการติดตั้งระบบวาล์วแปรผัน VVA ทำให้ได้แรงบิดที่สม่ำเสมอในการไต่ความเร็วทุกๆ ย่าน แม้ว่าเครื่องยนต์จะมีขนาดเล็กก็ตาม
|