Blog-Tamroy-EP08-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการ : โครงการหลวงแม่โถ โครงการหลวงแม่สะเรียง โครงการหลวงแม่ลาน้อย

 เช้านี้ทีมงาน mocyc.com ต้องเดินทางกันต่อ ทุกคนเลยรีบตื่น เพื่อซึมซับบรรยากาศดีๆ ฟังเสียงธรรมชาติ รับแสงแดดอุ่น ๆ ยามเช้า แล้วคว้ากระเป๋าโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์เพื่อเดินทางตามรอยพ่อกันต่อ
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ
ปลูกฝิ่นแล้วรวยเหรอ? ไม่ใช่แล้ว ... ต้องปลูกผักสิ กำเงินเห็น ๆ
           จุดหมายแรกที่พวกเรากำลังจะไปคือ โครงการหลวงแม่โถ โดยจะเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่ – ฮอด ขี่เลยอำเภอฮอดไปจนถึงหมู่บ้านกองลอย แล้วเลี้ยวขวาแล้วมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 1270  กองลอย – แม่โถ จนถึงที่ทำการ ซึ่งถือว่าเช้านี้เราออกตัวได้ไกลเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่เส้นทางยาวไกลก็ถูกทดแทนด้วยทิวทัศน์สองข้างทางที่ขนานไปกับลำน้ำและเทือกเขาสูง รวมถึงถนนดี ๆ ที่ทำให้การขับขี่กว่า 2 ชั่วโมงผ่านไปได้แบบสบาย ๆ
 
           เมื่อถึงเข้ามาถึงโครงการหลวงแม่โถและแจ้งความจำนงว่าอยากจะเข้าไปดูแปลงเพาะปลูก เจ้าหน้าที่ของโครงการก็จัดเตรียมรถกระบะให้พวกเรานั่งเข้าไป เพราะถนนที่ใช้เข้าไปยังแปลงเพาะปลูกก็โหดใช้ได้อยู่ ถ้าขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาเองคงใช้เวลาอีกครึ่งค่อนวันกว่าจะถึง ที่นี่ถูกจัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2539 เนื่องจากเมื่อก่อนชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ใน บ้านแม่โถ ยึดอาชีพปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย ขาดความรู้และความเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม ต้องต่อสู้กับความลำบากยากจนเรื่อยมา จึงมีแนวนโยบายส่งเสริมอาชีพการเกษตรแผนใหม่เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และการลดใช้สารเคมีในกะหล่ำปลี
  
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง
ทุนตั้งต้นจากพ่อกลายมาเป็น ธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย

          
จากนั้นเราเดินทางต่อมาที่ โครงการหลวงแม่สะเรียง เที่ยวนี้ก็ยังเดินทางกันเพลิน ๆ สบาย ๆ มีวิวสวยสุดสายตาขนาบข้างเช่นเคย โดยเรายังเดินทางอยู่บนทางหลวงหมายเลข 108 สายเชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน มุ่งหน้าอำเภอแม่สะเรียง ถึงบริเวณหน้าป้อมตำรวจบ้านกองลอยให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1270 ก็จะพบ โครงการหลวงแม่สะเรียงแรกเริ่มเดิมที โครงการหลวงแม่สะเรียง ขึ้นอยู่กับ โครงการหลวงแม่ลาน้อย จนกระทั่งแยกออกมาในปีพ.ศ. 2536 เพื่อความสะดวกของชาวเขาที่อยู่ในอำเภอแม่สะเรียงเอง จะได้เดินทางมาปรึกษาเรื่องพื้นที่ทำกินและการทำอาชีพการเกษตร โดยการดำเนินงานจะเป็นการส่งเสริมพืชไร่ ข้าวนาดำ พืชกินหน่อ อีกทั้งส่งเสริมการปลูกไม้ผล และการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งโดยรวมแล้วก็จะเหมือน ๆ กับโครงการหลวงแม่โถ เพราะมีลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกัน
 
        แต่ที่พิเศษกว่าคือที่นี่มี ธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย อยู่ที่บ้านป่าแป๋ หรือ โครงการหลวงแม่สะเรียง หน่วยย่อยบ้านป่าแป๋ ซึ่งต้องเดินทางขึ้นเขาไปอีกประมาณ 30 กม. เมื่อขึ้นมาถึงบ้านป่าแป๋ทุกคนก็ได้พบกับ พ่อหลวงส่างลา ผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านป่าแป๋ ที่ยินดีเล่าความเป็นมาและพาทุกคนไปชม ธนาคารข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ที่ก่อตั้งด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวของชาวเขาเผ่าละว้า เนื่องจากยุ้งข้าวของหมู่บ้านถูกไฟไหม้ ข้าวที่เก็บไว้เพื่อทานกันในหมู่บ้านตลอดทั้งปีเสียหายไปกับไฟหมด ชาวบ้านอยู่กันอย่างยากลำบาก อีกทั้งพื้นที่ก็ทุรกันดาร เรื่องทราบถึง หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ท่านจึงรีบนำเรื่องเข้ากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ จากนั้นไม่นานก็มีเงินจำนวน 20,000 บาท ใส่มาในกล่องเหล็ก ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์พี่พระราชทานให้เป็นทุนตั้งต้น และเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดธนาคารข้าวในวันที่ 1 มีนาคม 2513 และทรงรับสั่งว่า "เป็นธนาคารข้าวแห่งแรกของโลก"
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย
แม่ร้อยนา ... แม่ลาน้อย ภาพนาขั้นบันไดและกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น

         
เมื่อเที่ยวชม โครงการหลวงแม่สะเรียง เสร็จ เราก็จะเดินทางต่อไปที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งเป็นจุดหมายสุดท้ายของวันนี้ โดยตอนแรกเราวางแผนจะใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน ระยะทางประมาณ 200 กม. แต่เมื่อเราได้ทราบเส้นทางลัดที่ใช้ระยะทางไม่เกิน 20 กม. ก็ถึงแล้ว แต่เส้นทางจะลำบาก ทุกคนตัดสินใจว่าจะไปทางลัด ลำบากหน่อยแต่ก็คงไม่เท่าไหร่ เพราะถ้าเทียบกับทางปกติแล้ว มันคุ้มค่ากับการลุยมากทีเดียว แต่ปรากฏว่าเส้นทางลัดเลาะที่ไว้ย่นย่อทั้งระยะทางและเวลา ในตอนนี้กลับกลายเป็นเส้นทางสุดโหดหินที่ใช้ทดสอบร่างกาย จิตใจ ร่วมถึงมอเตอร์ไซค์ของเราได้ในคราวเดียว ทั้งลุยป่า ลุยโคลน เพื่อจะไปรับรู้ว่าสะพานข้ามน้ำที่มีอยู่หนึ่งเดียวนี้ มันขาด!! ทางเดียวที่จะทำให้เราไปต่อได้คือลุยน้ำข้ามไป!! ค่อย ๆ ลุยกันไป ตรงไหนขี่ได้ก็ขี่ ขี่ไม่ได้ก็เข็น สุดท้ายเราก็มาถึง โครงการหลวงแม่ลาน้อย จนได้ ฉายา "แม่ร้อยนา แม่ลาน้อย" ช่างสมคำเล่าลือ ภาพนาขั้นบันไดของที่นี่สวยตรึงตามาก ขนาดว่าเริ่มเก็บเกี่ยวไปบ้างแล้วก็ยังสวยอยู่ดี แต่จุดที่ทุกคนสนใจไม่ได้มีแค่นาขั้นบันไดเท่านั้น เพราะ บ้านห้วยห้อม เป็นอีกที่ที่ทุกคนปักมุดรอกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะคนที่เป็นคอกาแฟ เนื่องจากกาแฟของที่นี่ขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องคุณภาพ รสชาติ และสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งจะบ่งบอกความเป็นกาแฟดี คือ "กลิ่น" และกลิ่นกาแฟของหมู่บ้านนี้หอมหวนติดจมูกยิ่งกว่าใคร หากมาถึง โครงการหลวงแม่ลาน้อย แล้วไม่แวะจิบกาแฟ บ้านห้วยห้อม นี่ถึงว่าเสียเที่ยวมาก ๆ
 
           ชาวบ้านที่นี่เขาปลูกกาแฟเอง ด้วยวิธีการที่เราทุกคนคาดไม่ถึง เพราะเขาเอาเมล็ดกาแฟไปปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่า โดยไม่มีการแตะต้องทำลายป่าให้เสียหายเลยสักนิด และชาวบ้านจะคอยเอาใจใส่ดูแลทั้งป่า และต้นกาแฟของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทุกคนอยู่อย่างเกื้อกูลกัน คนดูแลป่า ป่าดูแลคน คนในหมู่บ้านก็น่ารัก เขาจะช่วยเหลือดูแลกันเสมอ ยามถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็ร่วมแรงร่วมใจกัน เก็บเสร็จก็นำมาผลิตในขั้นตอนต่อ ๆ ไป ซึ่งทุก ๆ ขั้นตอนในการผลิตจะมีส่วนผสมของความใส่ใจและความโอบอ้อมอารีเจืออยู่ในนั้นด้วย เรียกได้ว่า นอกจากกาแฟจะสร้างรายได้ให้ทุก ๆ คนแล้ว กาแฟก็ยังสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้กับคนในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
 
          นึกแล้วก็รู้สึกอิจฉาพวกชาวบ้านเขาเบา ๆ เหมือนกัน ความรักและสามัคคีแบบนี้หายากเต็มทีในสังคมที่ทุกคนแทบจะวิ่งแทนเดิน หายากเต็มที่ในสังคมที่หลาย ๆ คนคิดว่าตัวเองคือจุดศูนย์กลางของทุกอย่าง ทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้หมุนรอบตัวเขา น่าแปลกที่คนกลุ่มหนึ่งที่แทบไม่ได้ดูทีวีด้วยซ้ำ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีแอร์ในห้องนอน ทำไมเขาดูมีความสุขกันจัง
สุดท้ายเราก็ได้ข้อคิดอย่างหนึ่ง "ดูเขา แล้วย้อนดูเราเอง"