ปราสาทหินพิมาย
ที่เที่ยวอีสานใต้แห่งสุดท้ายที่เราอยากแนะนำสำหรับไบเกอร์คือ ปราสาทหินพิมาย พุทธสถานนิกายมหายานที่เก่าแก่ที่สุดในอีสานใต้ และเป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นศิลปะขอมแบบบาปวนในยุคแรกซึ่งเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองในสมัยนั้น และได้รับการต่อเติมในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเหมือนกัน แต่ในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองพิมายมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับอาณาจักรเขมร จึงทำให้ได้รับอิทธิพลศิลปะแบบนครวัดซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงนั้นปะปนเข้ามา ทำให้เราได้เห็นสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานศิลปะแบบนครวัดกับบาปวนที่โบราณสถานต่างๆ ภายในปราสาทหินพิมาย
หลังจากที่ปราสาทหินพิมายถูกทิ้งร้างไปเนื่องจากเมืองพิมายหมดความสำคัญลง กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์ด้วยการจดทะเบียนมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 โดยปราสาทหินพิมายได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรร่วมกับรัฐบาลฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2507 - 2512 ด้วยเทคนิค “อนัสติโลซีส” (Anastylosis) หรือการนำชิ้นส่วนต่างๆ ของตัวปราสาทมาประกอบเข้าด้วยกันตามหลักวิชาการและนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งเดิม
สิ่งก่อสร้างเด่นๆ ที่พบเห็นได้ในพื้นที่ปราสาทหินพิมายมีจำนวนมาก เริ่มจากทางเดินเข้า สะพานนาคราช ที่เชื่อกันว่าเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ตามคติจักรวาล ด้วยการสร้างเป็นรูปนาคราช 7 เศียรชูคอแผ่พังพานดูสวยงามซึ่งเป็นลักษณะที่ได้รับความนิยมของศิลปะแบบเขมรนครวัดราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ถัดเข้าไปจะเป็นซุ้มประตูชั้นนอกและกำแพงแก้ว โดยโคปุระ จะมีลักษณะเป็นรูปกากบาท ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ส่วนด้านกำแพงแก้วถูกสร้างขึ้นด้วยหินทราย มีความสูงประมาณ 8 เมตร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีขนาดกว้าง 220 เมตร ยาว 275.5 เมตร ที่สามารถมองเห็นซุ้มประตูชั้นในที่ถูกรายล้อมไปด้วยปราสาท
เมื่อผ่านประตูชั้นนอกเข้าไปแล้ว จะพบกับชาลาทางเดินที่ก่อด้วยหินทรายยกสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน และจะพบกับความยิ่งใหญ่ของปรางค์ประธาน ที่มีปรางค์หินแดงและปรางค์พรหมทัตตั้งอยู่ด้านข้าง ภายในเป็นที่ประดิษฐ์รูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าคือ “ท้าวพรมทัต” และรูปของพระนางชัยราชเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “นางอรพิม” ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านนั่นเอง
อีกหนึ่งไฮไลท์ที่เป็นจุดท่องเที่ยวของปราสาทหินพิมายที่ไม่ควรพลาดก็คือ ปรากฏการณ์สุริยาอัสดง ที่จะเกิดขึ้นเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยจะเกิดขึ้นครั้งละ 4 - 5 วัน แบ่งเป็นช่วงแรม 1-5 ค่ำ เดือน 12 ส่วนช่วงที่ 2 นับไปอีก 6 เดือนต่อจากที่เกิดปรากฎการณ์ ถึงจะได้ชมกันอีกครั้ง
สำหรับการเดินทางมายังปราสาทหินพิมาย หากมาจากตัวเมืองโคราชสามารถใช้ถนนมิตรภาพ หรือทางหลวงหมายเลข 2 มุ่งหน้าไปขอนแก่น ประมาณ 50 กิโลเมตร จะพบกับทางแยกตลาดแค ให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 206 อีกประมาณ 10 กิโลเมตรก็จะถึงอำเภอพิมาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทหินพิมายนั่นเอง
หากมาจากกรุงเทพฯ ให้ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) มุ่งหน้าจังหวัดสระบุรี แล้วเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ให้ขับตรงต่อไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านทางเข้าปราสาทพนมวันที่อยู่ด้านขวามือ ให้ขับตรงต่อไปอีกจะพบกับแหล่งโบราณคดีบ้านแดง จากนั้นเลี้ยวขวาที่แยกนี้เข้าสู่ถนนหลวงหมายเลข 206 เพื่อเข้าสู่อำเภอพิมายประมาณ 12 กิโลเมตร ก็ถึงอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
วันเวลา เปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30 - 18.00 น.
คนไทยเสียค่าเข้าชม 10 บาท ชาวต่างชาติ 40 บาท (นักเรียน นักศึกษาที่แต่งครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณร นักบวช เข้าชมฟรี)
|