Blog-Tamroy-EP05-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง : โครงการหลวงหนองหอย โครงการหลวงแม่สาใหม่ โครงการหลวงแม่แพะ โครงการหลวงแม่หลอด โครงการหลวงม่อนเงาะ

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย
ม่อนแจ่มวิวเขาคู่ดอกไม้และฟอร์มูล่าม้งที่ทำเอาสิงห์มอไซค์ถึงกับไปไม่เป็น
 
             ศนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย นับเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร แต่ชาวเขาในพื้นที่กลับทำลายป่าเพื่อเปิดที่ทำกินใหม่ ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย โครงการหลวงหนองหอย จึงถูกตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2517 ในพื้นที่อุทยาแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกร โดยแนะนำและส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น องุ่น  อะโวคาโด   พลับ  พลัม  และบ้วย  เป็นต้นทดแทนการปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ส่วนไฮไลท์ของที่นี่คงไม่มีใครไม่มีใครไม่รู้จัก ม่อนแจ่ม สถานที่ท่องเที่ยวที่เต็มไปพรรณไม้สวยงามมากมาย และทิวทัศน์ สายหมอกที่โอบล้อมม่อนแจ่มอยู่ ทำให้ที่นี่เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีบรรยากาศโรแมนติกที่สุด อีกอย่างคือ ฟอร์มูล่าม้ง รถเลื่อนไม้ชื่อดังของบรรดาชาวเขาเผ่าม้ง ใครมาถึงที่นี่ก็ต้องเล่นกันทุกคน เห็นคันเล็ก ๆ ดูน่าจะบังคับง่ายแบบนี้ ขอขอบเลยว่า ฟอร์มูล่าม้ง นี่ไม่ใช่เล่น ๆ นะ ขนาดพวกเราขี่มอเตอร์ไซค์มาขนาดนี้ เจอ ฟอร์มูล่าม้ง เข้าไปก็ถึงกับไปไม่เป็นทีเดียว
            วันนี้เราเริ่มต้นเดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1096 แม่ริม - สะเมิง ทางแยกขึ้นศูนย์อยู่ระหว่างกม.ที่ 13 – 14 จะเจอป้ายโครงการหลวงหนองหอย อยู่ขวามือ ขี่ขึ้นไปอีก 7 กม. ก็ถึงแล้ว
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่
 ต้นไม้ของพ่อ – ต้นกำเนิดพริกหวาน 3 สี และมะเดื่อฝรั่ง

 
             โครงการหลวงแม่สาใหม่ นี้มีเรื่องเล่า พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเสด็จลงบนไร่ฝิ่นที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งแม่สาใหม่ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นหมูตัวเล็ก ๆ พุงลากดิน ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่สำคัญต่อการดำรงชีพ ตามวิถีชีวิตและพิธีกรรมของชาวเขา จึงได้ทรงพระราชทานลูกหมูตัวผู้พันธุ์ดี จำนวน 2 ตัว พร้อมอาหารสัตว์ และพันธุ์พืชเพื่อเพาะปลูก
             เมื่อปีพ.ศ. 2517 โครงการหลวงแม่สาใหม่ได้เริ่มต้นดำเนินงานโดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) ดำเนินการทดลองวิจัยและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเมืองหนาวขึ้น และในปีพ.ศ. 2525 ได้ส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวเขาให้มีรายได้เพื่อเป็นการทดแทนการปลูกฝิ่นจนถึงปัจจุบัน ทำให้ที่นี่เป็นที่แรกที่มีการเพาะปลูกพริกหวาน 3 สี จนขยายนำไปเพาะปลูกในโครงการหลวงอื่นๆ ร่วมถึงมะเดื่อฝรั่ง ที่เราก็เพิ่งเคยเห็นในวันนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นที่เคารพรักของชาวบ้านแม่สาใหม่มาก นั้นก็คือ ต้นไม้ของพ่อ ซึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกไว้เมื่อปีพ.ศ. 2517 โดยต้นไม้ 2 ต้นนั้นคือ ต้นพลับ กับ ต้นบ๊วยใช้ทางหลวงหมายเลข 1096 แม่ริม - สะเมิง ไปอีกประมาณ 15 -16 กม. จะพบทางขึ้นอยู่ทางซ้ายมือ ตรงข้ามกับวัดโป่งแยงเฉลิมพระเกียรติ เข้าไปอีก 3 กม. มีช่วงถนนที่เป็นถนนลาดยางและถนนลูกลังก่อนถึงโครงการหลวงประมาณ 1.5 กม.
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ
ครั้งแรกกับการบุกแปลงปลูกของชาวบ้าน

 
              เรายังคงใช้ทางหลวงหมายเลข 1096 แม่ริม – สะเมิงอยู่ เมื่อขับไปถึงอำเภอสะเมิงก็เลี้ยวขวาแล้วขี่ไปอีกประมาณ 40 กม. ก็มาถึง โครงการหลวงแม่แพะ มีพื้นที่รับผิดชอบ 2 ตำบล คือ ตำบลสะเมิงเหนือ กับ ตำบลแม่สาบ ที่นี่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาข้อมูลผลผลิตและนำข้อมูลไปแนะนำให้ชาวบ้าน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความรู้ และสามารถทำการเพาะปลูกพืชผลต่าง ๆ เองได้ โดยจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักและผลไม้ เช่น แตงกวายาว มะเขือม่วงก้านเขียว มะเขือม่วงก้านดำ ปวยเหล็ง พลับ พลัม  อะโวกาโด  เสาวรส สิ้นจี่ เป็นต้นและวันนี้ก็เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปชมแปลงเพาะปลูกของชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของ โครงการหลวงแม่แพะ นำทางเราเข้าไป ซึ่งก็อยู่ห่างจากตัวโครงการหลวงพอสมควร เมื่อมาถึงเราก็สังเกตเห็นว่าแปลงเพาะปลูกที่อยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านเองนั้นจะปลูกถั่วแขกกันเกือบทั้งหมด และถั่วแขกก็สีเขียวสดน่ากินมาก
 
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
ถิ่นปลูกกาแฟดีสายพันธุ์อาราบิก้า

 
                       หลังจากนั้นพวกเราได้ออกเดินทางต่อ เพื่อจะไปยัง สถานีวิจัยฯ แม่หลอด โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย - ปาย ตรงไปประมาณ 18 กม. มีแยกทางซ้ายมือไปน้ำตกตาดหมอกฟ้า เลี้ยวเข้าไปอีกประมาณ 3 กม. ก็จะถึง สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอดสถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด แห่งนี้ได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของโครงการหลวงในปีพ.ศ. 2527 เนื่องจากก่อนหน้านั้นคณะวิจัยกรมวิชาการเกษตร ได้รับการสนับสนุน เงินทุนวิจัยจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ผ่านโครงการหลวง เพื่อเข้ามาสำรวจแหล่งผลิตกาแฟอาราบิก้าที่ บ้านแม่หลอด จนกระทั่งสิ้นสุดความช่วยเหลือ ทางคณะวิจัยจึงนำเรื่องกราบทูลเสนอ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งได้โปรดรับไว้ในความดูแลของโครงการหลวง และให้เป็นสถานีวิจัย 1 ใน 4 สถานีของโครงการหลวง โดยสายพันธุ์กาแฟจากสถานีฯ แม่หลอด ได้แพร่หลายออกไปในพื้นที่สูงของภาคเหนือมากมาย นอกจากกาแฟพันธุ์อาราบิก้าจะชึ้นชื่อแล้ว ที่นี่ยังส่งเสริมให้ปลูกผัก ผลไม้ หลายชนิด แต่ที่เราที่รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นพิเศษก็คือการส่งเสริมและวิจัยสมุนไพร เช่น USA มิ้น เจแปนนิสมิ้น  เสจ  สวิทเบซิล  มาแรม เลมอนบาล์ม อิตาเลียนพาสเล่ย์ และ ผลผลิตชื่อแปลกหูอย่าง มะแขว่น ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และเป็นการเพิ่มมูลค่าพื้นที่ให้กับพื้นจากการทำไร่ เพราะสมุนไพรบางชนิดอายุสั้น เก็บเร็ว ขยายพันธุ์ง่าย และสมุนไพรบางชนิดถ้าเหลือจากที่ส่งขายในตลาด ก็ยังสามารถมาบริโภคในครัวเรือนได้
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
บุกแปลงปลูกของชาวบ้านอีกครั้ง พร้อมเซลฟี่กับฟักทองลูกเต่ง ๆ
 
               เมื่อ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้มีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปสำรวจสภาพพื้นที่หมู่บ้านม่อนเงาะ ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติบริเวณนั้นถูกรุกล้ำทำลาย โดยชาวไทยภูเขาเผ่าม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ได้ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งสิ่งที่พวกเขาปลูกส่วนใหญ่นั้นก็คือฝิ่นนั่นเองแต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านก็ยังลำบากยากจนอยู่ โครงการหลวงม่อนเงาะ จึงเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2528 โดยได้มีการเริ่มดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมด้านพืชผักเป็นลำดับแรก และต่อมาได้ทำการขยายผลการดำเนินงานไปในด้านพัฒนาสังคมและกิจกรรมกลุ่ม จนสามารถดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กันไป เราเดินทางโดยใช้บริการทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย - ปาย อยู่เหมือนเดิม ขี่ไปประมาณ 12 กม. ซึ่งจะพบทางแยกขึ้นไปยังโครงการหลวงม่อนเงาะ ทางขวามือ ตรงข้ามวัดสบปิง ขึ้นไปอีก 17 กม. ก็ถึงจุดหมายปลายทางที่นี่จะส่งเสริมให้ปลูกพืชผัก ผลไม้ ชนิดต่างๆ เช่น ฟักทองญี่ปุ่น พลับ พลัม ส้มเขียวหวาน เป็นต้น ซึ่งวันนี้เราก็ได้เห็นฝักทองญี่ปุ่นกำลังโตอยู่ในแปลงปลูกของชาวบ้าน ลูกเต่งสวยเชียว แต่รู้สึกว่าจะยังไม่สุกดี แต่ก็อย่างหาว่างั้นงี้เลย ขอเซลฟี่ด้วยสักรูปแล้วกัน