ตามรอยเท้าพ่อ ขี่มอเตอร์ไซค์ไป 38 โครงการหลวง
หากพูดถึง โครงการหลวง ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะคุ้นหู แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักโครงการนี้จริงๆ วันนี้ทีมงาน mocyc.com จะพาคุณมาทำความรู้จักกับเส้นทางแห่งความสุขทั้ง 38โครงการ ที่เริ่มต้นจากการเดินทางผ่านถนนลาดยางแสนสบาย ไปจนถึงทางลูกรังกันดาร ลัดเลาะภูเขา เข้าป่า เปียกฝน บนเส้นทางยาวไกลกว่า 5,000 กิโลเมตร
โครงการหลวง เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2512 โดยมีพระราชประสงค์ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา ให้ปลูกพืชผักแทนการปลูกฝิ่น เพื่อลดยาเสพติดในประเทศไทยและลดการทำลายป่าต้นน้ำจากการทำไร่เลื่อนลอย พื้นที่ดำเนินงานประกอบด้วย 4 สถานีวิจัยได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงปางดะ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และสถานีวิจัยเกษตรหลวงแม่หลอด พร้อมทั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 38 แห่ง กระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง ลำพูน และพะเยา
เรามีข้อมูลก่อนเดินทางเพียงเท่านี้ ทั้งๆที่โครงการหลวงอยู่ไม่ไกลตัวเรามาก มีความคิดในใจเพียงแค่ว่า ถ้าพูดถึงโครงการหลวง คงจะนึกถึงเพียงสถานที่ปลูกผัก ปลูกสตรอเบอรี่ ของชาวเขาในเขตภูเขาห่างไกล กับถนนหนทางทุรกันดารเพียงเท่านั้น แต่เมื่อยิ่งค้น ยิ่งศึกษา กลับพบว่าสิ่งที่เรารับรู้มาอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทริปแห่งการค้นหาความหมายของทีมงาน mocyc.com จึงได้เริ่มต้นขึ้น และในครั้งนี้เราก็โชคดีที่ ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ได้ให้การสนับสนุนการเดินทาง โดยการส่งรถมาให้เราใช้ในการเดินทางครั้งนี้ทั้งหมด 3 คัน 3 สไตล์ ได้แก่
ยามาฮ่า เอ็นแม็กซ์ (Yamaha NMAX) รถออโตเมติก พิกัด 155 cc ที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์แบบ BLUE CORE ซึ่งมีระบบวาล์วแปรผัน VVA (Variable Valve Actuation) แรงเต็มพิกัดในทุกอัตราเร่ง ทั้งรอบต่ำ กลาง และสูง ให้การขับขี่ราบรื่นทุกแรงบิด และ ดิสก์เบรกหน้า-หลัง พร้อม ระบบเบรก ABS
ยามาฮ่า เอ็ม-สแลช (Yamaha M-SLAZ) รถ Street Bike 150 ซีซี ใหม่ล่าสุดจากตระกูล MT-Series เครื่องยนต์สูบเดี่ยว เกียร์สปอร์ต 6 สปีด ระบายความร้อนด้วยน้ำ พร้อมระบบหัวฉีดอัจฉริยะสั่งจ่ายน้ำมัน ที่มาพร้อมกับ สวิงอาร์มหลังอะลูมิเนียมติดตั้งกับโมโนโช้ค และ โช้คหน้าหัวกลับขนาดใหญ่ 37MM. พร้อมยางใหญ่พิเศษ
และสุดท้ายกับ ยามาฮ่า เอ็กไซเตอร์ (Yamaha Exciter) สุดยอดรถ Moped Sport เกียร์สปอร์ต 5 สปีด คลัตช์มือ พร้อมกระบอกสูบไดอะซิล ที่มีระบายความร้อนด้วยน้ำเต็มระบบ และ Mono Shock โช้คเดี่ยว
ถ้าพร้อมแล้ว มาซ้อนมอเตอร์ไซค์กับพวกเราเลยครับ
เนื่องจากโครงการหลวงแต่ละที่นั้นกระจัดกระจายอันอยู่ทั่วภาคเหนือ ประกอบกับเราก็มีเวลาค่อนข้างจำกัด ทำให้เราต้องวางแผนการเดินทางอย่างรัดกุม และต้องใช้เวลาในการเดินทางที่น้อยที่สุด เพื่อที่จะมีเวลาในการทำความรู้จักโครงการหลวงให้มากขึ้น เราจึงวางเส้นทางให้เป็นแบบวิ่งเป็นทางเดียวโดยไม่วนกลับเส้นทางเดิม
โดยเริ่มต้นจากจุดสูงสุดของประเทศไทย โดยตั้งใจขึ้นไปสักการะสองพระมหาธาตุแห่งดอยอินทนนท์เพื่อความเป็นศิริมงคลและเป็นขวัญกำลังใจในการเดินทาง วันนั้นฝนเพิ่งหยุดตก หมอกลงจัด ระยะสายตามองเห็นแค่ไฟของรถคันข้างหน้าเท่านั้น แต่นั่นก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์เท่าไรนัก
เมื่อเราได้ไปสัมผัสกับโครงการหลวงครบทั้ง 38 โครงการ ประสบการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้พวกเราอยู่ไม่น้อย เมื่อพบว่าบางโครงการได้ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิเช่น โครงการหลวงอินทนนท์ โครงการหลวงอ่างขาง และพบว่าบางสถานที่ท่องเที่ยวที่เราคุ้นเคย ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวง ไม่ว่าจะเป็น โครงการหลวงตีนตก (แม่กำปอง) โครงการหลวงหนองหอย (ม่อนแจ่ม) โครงการหลวงวัดจันทร์ (ป่าสนวัดจันทร์) เป็นต้น ซึ่งเราทั้งสามคนไม่เคยรู้มาก่อน
และในระหว่างการเดินทาง ก็มีสิ่งที่สร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเราอยู่ไม่น้อย นั่นคือข่าวของโครงการหลวงน้องใหม่แห่งที่ 39 ยิ่งเข้าสู่ช่วงท้ายของการเดินทาง ข่าวนี้ก็ยิ่งหนาหู เราจึงไม่พลาดโอกาสที่จะไปเยี่ยมชม นั่นคือโครงการหลวงเลอตอ อ.แม่ระมาด จ.ตาก
สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เรามีความเข้าใจที่มาที่ไปของโครงการหลวงแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการขับมอเตอร์ไซค์ไปทั้ง 38 โครงการ ก็คือการที่เราได้พบเจอกับเส้นทางที่สวยงามหลากหลายเส้นทาง หลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็ต่างจากที่เราเคยคิดว่า การไปโครงการหลวงนั้นยากลำบาก เพราะปัจจุบันทุกเส้นทางที่ไปโครงการหลวงนั้นล้วนถูกพัฒนามากกว่าแต่ก่อน เหมือนดั่งคำพูดของเจ้าหน้าที่โครงการหลวงท่านหนึ่งบอกกับเราว่า "ที่ไหนมีโครงการหลวง ก็จะมีสิ่งที่ตามมาก็คือ ที่นั่นไฟฟ้าเข้าถึง ถนนเข้าถึง" แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางไปโครงการหลวงจะง่ายดายเหมือนกันหมดทุกที่ เพราะบางที่ก็ยังเป็นถนนลูกรัง บ้างก็ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงชัน บ้างก็ตวัดลัดเลาะภูเขา แต่สำหรับพวกเราก็ไม่ถือว่าการเดินทางครั้งนี้จะยากลำบาก เพราะรถที่เราใช้ก็มีสมรรถนะเยี่ยมยอด จนสามารถพาเราไปได้ทุกที่จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น YAMAHA NMAX, YAMAHA M-SLAZ และ YAMAHA Exciter
มีบางเส้นทาง อย่างทางลัดจากบ้านป่าแป๋ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวงแม่สะเรียง ไปยังโครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งเราต้องเจอกับสะพานข้ามแม่น้ำที่ขาด แต่ก็ไม่มีปัญหาสำหรับ YAMAHA NMAX ที่ถือว่าเป็นรถที่มีความสูงไม่มาก หากเทียบกับอีก 2 คันที่เหลือ แต่รถก็สามารถวิ่งผ่านน้ำได้สบาย ๆ ไม่มีดับกลางทาง
และถึงแม้ว่าบางเส้นทางจะเป็นทางขึ้นเขาที่ชันมาก อย่างเส้นทางไปโครงการหลวงห้วยส้มป่อย แต่สำหรับ YAMAHA NMAX ซึ่งเป็นรถออโตเมติกเพียงคันเดียวในทริปนี้ ที่ตอนแรกเราคิดว่าไม่น่าจะขึ้นเส้นทางนี้ได้ แต่เมื่อลองเดินทางแล้ว รถคันนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งกำลังเครื่องที่ต้องใช้ตอนขาขึ้นก็ถือว่าแรงเหลือ ๆ หรือจะเป็นช่วงขาลงเขาชัน ๆ ระบบเบรก ABS ของ รถ YAMAHA NMAX ก็ช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างปลอดภัย
ตลอดระยะทางร่วม 5,000 กิโลเมตรที่พวกเราขี่ผ่าน และ 39 โครงการหลวงที่เราได้ไป ทุกรอยล้อที่เคลื่อนผ่าน ถือเป็นประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า โครงการหลวงไม่ใช่แค่เพียงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา แต่ยังช่วยชาวพื้นราบด้วยการฟื้นฟูป่าไม้ และช่วยให้ประเทศไทยให้ห่างไกลจากยาเสพติด เมื่อการปลูกฝิ่นถูกไม้เมืองหนาวเข้ามาทดแทน
ตะไคร้หอม คาโมมายด์ โรสแมรี่ ที่โครงการหลวงขุนแปะ คือ สิ่งแปลกใหม่สำหรับพวกเรา พืชที่เหมือนหญ้าเมื่ออยู่ในแปลงปลูก กลับถูกนำมากลั่นเป็นหัวน้ำหอมและสร้างมูลค่าสูง
มะเดื่อฝรั่ง ,เคพกูสเบอร์รี่ ,เสาวรส ,อะโวคาโด้ ,ลูกพลับ และ มัลเบอรี่ คือไม้ผลที่โครงการหลวงได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูก และก็ทำรายได้ให้โครงการหลวงเป็นอย่างมาก อย่างลูกพลับจากโครงการหลวงแม่แฮ สามารถทำรายได้สูงถึงปีละ 50 ล้านเลยทีเดียว
ไม้ดอกก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่สำคัญของโครงการหลวง โดยเฉพาะดอกเบญจมาศ ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปหากไปโครงการหลวงอินทนนท์ หรือที่โครงการหลวงขุนวาง
นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อเลย อย่างดอกดองดึง หรือ Gloriosa ที่โครงการหลวงหนองเขียว และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ ดอกดองดึงถือว่าเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ให้กับโครงการหลวงเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสับปะรดสี ที่ชื่อเป็นผลไม้แต่กับถูกเพราะเลี้ยงให้กลายเป็นไม้ประดับสีสันสวยงาม โดยใช้เทคนิค นำไปตากแดดในเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้มีสีสันที่แตกต่างกันไป และสร้างมูลค่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น โครงการหลวงยังมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักอีกหลายชนิด ที่เราไม่คิดว่าจะปลูกได้ในเมืองไทย อย่างดอกเก็กฮวยเหลืองที่โครงการหลวงสะโงะ ที่นำพันธ์มาจากเมืองจีน พริกหวานสามสีที่เราเคยคิดว่าเมืองไทยมีเพราะการนำเข้าเท่านั้น เบบี้แครอท เบบี้ฮ่องเต้ ข้าวโพดหวานสีม่วง และพืชเมืองหนาวอีกหลายร้อยชนิดที่เราไม่ได้กล่าวถึง จากที่เคยสงสัยว่าไม้เมืองหนาว สามารถนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยได้อย่างไร ก็เห็นจะได้คำตอบแล้วว่า ผลผลิตเหล่านี้ ล้วนเกิดจากงานวิจัยในโครงการหลวงทั้งสิ้น ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสิ้น
และนอกจากความหลากหลายของการเพาะปลูกแล้ว การได้เดินทางไปโครงการหลวงทั้งหมด ก็ทำให้เราได้สัมผัสกับผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น อาข่า (อีก้อ) ,ลาหู่ (มูเซอ) ,ม้ง ดาราอั้ง (ปะหล่อง), จีนยูนาน (จีนฮ่อ) ,ลีซู (ลีซอ) ,เมี้ยน (เย้า) ,ไทยใหญ่ ,คะฉิ่น ,ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ,ไทยลื้อ และ ลั๊วะ เรายังพบว่าโครงการหลวงยังทำการส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตร ได้แก่การส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟูงานหัตถกรรมในชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน อย่างผ้าทอมือของชาวปกาเกอญอที่โครงการหลวงแม่สะป๊อก และบ้านแม่กลางหลวงในโครงการหลวงอินทนนท์ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังได้มีโอกาสเห็นเสามะเนาชะโดง ที่เป็นเสาสูงหลายๆต้น เขียนสีลวดลายและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญที่สุดของชาวคะฉิ่นอีกด้วย
การพักแบบโฮมสเตย์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราได้เข้าถึงวิถีของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งก็มีหลายโครงการหลวงที่มีการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น โครงการหลวงแม่ลาน้อย โครงการหลวงห้วยน้ำริน โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่ได้มีโอกาสไปเยือนจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนนั้นๆได้เป็นอย่างดี
ซึ่งโครงการหลวงก็ไม่ได้มีแค่โฮมสเตย์เท่านั้น เพราะแทบทุกโครงการหลวงจะมีบ้านพักไว้รับรองนักท่องเที่ยวที่อยากไปสัมผัสกับโครงการหลวง อย่างโครงการหลวงสะโง๊ะ, โครงการหลวงผาตั้ง และโครงการหลวงแกน้อย ก็มีราคาค่าบำรุงสถานที่ถูกอย่างคาดไม่ถึงเลย
สำหรับโครงการหลวงที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวดังๆ อย่าง โครงการหลวงอินทนนท์ โครงการหลวงอ่างขาง โครงการหลวงวัดจันทร์ โครงการหลวงปังค่า ก็จะมีที่พักที่สวยงามไม่ต่างจากของเอกชนเลย อยู่ที่ว่าเราอยากจะสัมผัสบรรยากาศแบบไหน
บทสรุปการเดินทางในครั้งนี้ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือความรู้ ความรัก และความประทับใจในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ยังได้ความสุขใจจากการได้พบปะความสวยงามของสองข้างทาง ผู้คน วัฒนะธรรมท้องถิ่น ที่เคยได้ยินได้ฟังจากทีวี แต่ในวันนี้เราได้เข้ามาสัมผัสด้วยตาของตนเอง
ระหว่างการเดินทาง แม้บางเส้นทางจะยากลำบาก บางครั้งเราต้องเข็นรถข้ามลำห้วย ต้องลุยโคลน โดนฝนถล่ม แต่ความงามสองข้างทางหลังจากนั้นที่ได้เจอก็ถือว่าคุ้มค่า และรอยยิ้มของชาวเขาก็ทำให้เราได้รู้ว่า จริง ๆ แล้วความสุขไม่ได้แปรผันตรงกับความเจริญของวัตถุ แต่แปรผันตรงกับความงอกงามในจิตใจ
และเรื่องทั้งหมดนี้เราคงจะไม่รู้...ถ้าเราไม่ได้ออกเดินทางไปกับโครงการนี้ #ขี่มอไซค์ไป38โครงการหลวง
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่โครงการหลวงทุกท่าน ที่คอยดูแลเรา ถึงแม้บางครั้งเราจะไม่ได้นัดล่วงหน้าเพื่อขอเวลา แต่เจ้าหน้าที่ทั้งหมดก็พร้อมจะสละเวลามาให้ข้อมูลกับเรา และพาเราไปเยี่ยมชมแปลงเพราะปลูก เพื่อให้เราได้สัมผัสกับโครงการหลวงแบบเข้าถึง
และโครงการนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มี ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ที่ได้ให้การสนับสนุนให้เราได้ไปนำเรื่องราวของโครงการหลวงมาเผยแพร่กับคนอีกหลายคนที่ยังไม่ได้มีโอกาสเดินทางไป ขอขอบคุณครับ