สวัสดีครับ สำหรับบทความนี้เราจะแนะนำให้ท่านผู้อ่าน ทราบถึงการเตรียมความพร้อมของ
นักแข่ง ต่อการแข่งขันรายการใหญ่ระดับโลก เช่น MotoGP, World Superbike , Moto2 , Moto3
โดยปกติสนามแข่งขันในเกมส์ระดับโลกเช่น MotoGP, World Superbike , Moto2 ,Moto3 จะตระเวณทำการแข่งขันไปทุกๆทวีปทั่วโลกทั้ง ยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปอเมริกาใต้ ทวีปเอเซีย ทวีปออสเตรเลีย ทวีปแอฟริกา เพื่อให้นักแข่งได้สัมผัสสนามแข่งหลากหลายรูปแบบและเป็นการไปสร้างแฟนมอเตอร์สปอร์ตให้เกิดขึ้นทุกๆมุมโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ในสนามแข่งแต่ละสนามจะมีการดีไซน์รูปแบบสนามที่แตกต่างกันแต่อยู่ภายใต้มาตรฐานความ ปลอดภัยสูงสุดแบบเดียวกัน
สนามแข่งแต่ละสนามจะมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน บางสนามมีทางตรงเยอะ บางสนามมีโค้งต่อเนื่องมาก บางสนามเส้นทางวิ่งเป็นทางลาดชันเป็นเนิน โค้งแต่ละโค้งก็แตกต่างกัน ทั้งโค้งที่ใช้ทักษะการขับขี่ โค้งที่ต้องใช้ความเร็วของเครื่องยนต์ ฯลฯ
ดังนั้นก่อนเข้าสู่เกมส์การแข่งขัน นักแข่ง ทีมงาน และทีมช่าง ต้องปรับเซ็ทรถแข่ง พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆให้รถอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานมากที่สุด รวมถึงทดสอบสมถรรนะของรถในสนามแข่งขันจริง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
ด้านนักแข่งจะต้องคอยหมั่นสังเกตปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการฝึกซ้อม โดยการซ้อมนี้อาจขับกัน 15-20 รอบสนามหรือมากกว่า เพื่อหาข้อมูลว่าเวลาที่เอาไปแข่งขันจริง และต้องทำเวลาของแต่ละรอบให้ดีที่สุดอีกด้วย
ส่วนด้านทีม Mechanic ก็จำเป็นที่ต้องปรับเซ็ทเพื่อให้รถให้มีความพร้อมสำหรับการแข่งขันมากที่สุด และต้องทดสอบขับขี่ในสนามแข่งจริงอีกครั้ง
ทั้งนี้การทำเวลาในแต่ละรอบ อาจจะรู้ถึงผลการแข่งขันในวันแข่งจริงและสามารถรู้ถึงสมรรถนะของรถว่าเมื่อขี่ไปนานๆรถจะมีอาการอย่างไร ซึ่งนักแข่งสามารถที่จะปรับแก้ไขได้ หลังการซ้อมรถในแต่ละวัน นักแข่งกับทีม Mechanic จะต้องมานั่งพูดคุยกันพร้อมดูกราฟที่แสดงวิธีการขับขี่ การใช้เบรก การใช้คันเร่ง การเลี้ยว องศาการเลี้ยวมากไปหรือน้อยไป ฯลฯ จากคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่มีโปรแกรม DATAข้อมูลต่างๆของรถ ที่จะแสดงผลให้ทีม Mechanic และนักแข่งได้รู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อเวลาต่อรอบของนักแข่ง
ภายหลังจบโปรแกรมการทำงานในแต่ละวันทีมช่างจะทำการถอดชิ้นส่วนทุกชิ้น เพื่อทำความสะอาด ทั้งในส่วนของเครื่องยนต์ด้วย จากนั้นก็จะประกอบรถเข้ามาเป็นคันเหมือนเดิมเพื่อพร้อมสู่การซ้อมและจับเวลา หาอันดับสตาร์ทในวันรุ่งขึ้น
สำหรับการซ้อมครั้งที่ 3 รวมถึงการควอลิฟายเพื่อจับเวลาหาอันดับสตาร์ท ทีม Mechanic ทีมช่างและ ตัวนักแข่ง จะเข้าสนามกันแต่เช้า ซึ่งปกติจะต้องมาถึงสนามก่อนการซ้อมราวๆหนึ่งชั่วโมง จากนั้นนักแข่งก็จะตรวจเช็คและดูความพร้อมของรถซึ่งอาจจะพูดคุยกับช่างถึง การปรับเซ็ทรถ และจะลงสนามเพื่อทำการซ้อมเป็นครั้งที่ 3 นักแข่งแถวหน้า ที่ทำเวลาดีอยู่แล้วก็อาจจะลองปรับเซ็ทรถมีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ หรือปรับเซ็ทให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ส่วนนักแข่งที่เวลาเป็นรอง ก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆที่ได้เรียนรู้มาจากDATAที่แสดงผลไว้เพื่อให้ได้รถแข่งที่พร้อมที่สุดไว้สำหรับการลงทำการจับเวลาหาอันดับสตาร์ท
การควอลิฟายเพื่อหาอันดับสตาร์ท สำหรับการแข่งขันในรายการ MotoGP และWorld Superbike จะมีการแบ่งนักแข่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกหรือQP1 นั้นจะเป็นการจัดอันดับสตาร์ทในตำแหน่งที่ 13 ลงมา โดยดูเวลาจากการซ้อมในครั้งที่ 3 ในตำแหน่งที่ 11 ลงมา และในกลุ่มQP 2 จะเป็นนักแข่งที่ทำเวลาในการซ้อมครั้งที่ 3 จากอันดับ 1 ถึงอันดับ 10 บวกกับอีก 2 นักแข่งที่ทำเวลาดีที่สุดในQP1 ทำการคัดเลือกหาอันดับสตาร์ทที่ 1-12 ซึ่งก็จะได้ตำแหน่งสตาร์ททั้งหมดของนักแข่งที่ใช้ในการทำการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น
ส่วนการแข่งขันในรุ่น Moto2 , Moto3 หรือในรุ่น World Supersport 600 จะให้นักแข่งลงสนามเพื่อทำการจับเวลา ซึ่งนักแข่งต้องพยายามทำเวลาให้ดีที่สุด การชิงตำแหน่งกริดสตาร์ทเราต้องลุ้นจนถึงการเข้าเส้นชัยในรอบสุดท้าย โดยสังเกตได้จากกรรมการจะตีธงหมากรุกใน Lap Final ตำแหน่งของนักแข่งอาจจะเปลี่ยนในช่วงเสี้ยววินาทีนี้ หลังซ้อมนักแข่งและทีมงานก็จะพูดคุยกันถึงการปรับเซ็ทเพื่อสรุปเทคนิคที่จะใช้ในการทำการแข่งขันในวันรุ่งขึ้น
โดยในวันทำการแข่งขันจริง MotoGP ช่วงเช้าจะมีการซ้อมในรอบวอร์มอัพ นักแข่งส่วนใหญ่ก็จะลงทำการซ้อมเพื่อรีเช็คความพร้อมของรถเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าสู่การแข่งขันจริง ซึ่งผู้จัดการแข่งขันจะกำหนดรอบการแข่งขันให้กับรุ่นการแข่งขันต่างๆ โดย MotoGP จะต้องทำระยะรวมตลอดการแข่งขันอยู่ที่ 110-120 กิโลเมตร ส่วนรุ่นอื่นๆก็ลดหลั่นกันลงมาแล้วแต่กติกาการแข่งขัน และเมื่อถึงเวลาที่ทำการแข่งขัน ประตูปากทางพิทจะเปิด นักแข่งต้องนำรถลงสู่สนามเพื่อทำการวอร์มอัพ 1 รอบ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งรถแข่ง และตัวนักแข่ง เมื่อกลับมาถึงที่บริเวณกริดสตาร์ท
นักแข่งจะเข้าประจำจุดสตาร์ทที่ตนเองทำอันดับไว้ ส่วนทีม Mechanic และทีมช่างก็จะเข้ามาที่รถพร้อมนำอุปกรณ์เครื่องวอร์มยาง มาคลุมยางเพื่อเป็นการปรับอุณหภูมิยางให้มีความร้อนเพื่อพร้อมในการแข่งขันได้ทันที
ที่กริดสตาร์ทกรรมการจะชูป้าย 5 นาที เพื่อแสดงว่าอีก 5 นาทีจะถึงการแข่งขัน ช่วงนี้ก็เป็นการแนะนำนักแข่งในอันดับต่างให้ผู้ชมในสนามได้ทราบ จากนั้นก็จะมีป้าย 3 นาที ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นแขกรับเชิญของทีมหรือแขกวีไอพีของรายการ ผู้จัดการทีม ทีม Mechanic ช่างภาพ เรซควีน จะต้องเดินออกจากสนาม เหลือเพียงช่างเครื่อง1คน กับนักแข่งอยู่ในสนามเท่านั้น ป้าย 1 นาที ช่างเครื่องจะต้องออกจากกริดสตาร์ท และป้าย 30 วินาทีนักแข่งจะต้องทำการสตาร์ทเครื่องยนต์เตรียมพร้อมที่จะทำการแข่งขัน
ส่วนรุ่น MotoGP ช่วง 1 นาทีสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มทำการแข่งขัน ช่างเครื่องจะทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ให้โดยมีเครื่องสตาร์ทเป็นตัวช่วย หลังจากที่ช่างเครื่องออกจากกริดสตาร์ทแล้ว นักแข่งก็รอเวลาเพื่อทำการวอร์มอัพแล็บ กรรมการจะโบกธงเขียวเป็นสัญญาณ นักแข่งนำรถออกไปวิ่งรอบสนาม 1 รอบถือเป็นการเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเริ่มทำการแข่งขัน และเมื่อนักแข่งกลับมาที่จุดสตาร์ทของตนตามเดิมนั้นแล้ว กรรมการด้านหน้าที่ยืนอยู่กลางสนามก็เดินกลับไปที่ข้างสนาม กรรมการด้านหลังนักแข่งในอันดับสุดท้ายที่ถือธงแดงอยู่เดินออกจากสนาม นักแข่งทุกคนจะต้องมองไปที่สัญญาณไฟแดงที่อยู่ด้านหน้า เพื่อสัญญาณไฟแดงดับ นั่นก็หมายถึงการสตาร์ทก็เริ่มขึ้นนักแข่งจะต้องพยายามออกสตาร์ทให้เร็วที่สุดเพื่อชิงความเป็นผู้นำในโค้งแรก
นักแข่งที่อยู่ในสนามต่างต้องชิงชัยเพื่อชิงอันดับให้ดีที่สุด พร้อมมองป้ายสัญญาณต่างๆของทีมงานที่ชูอยู่บริเวณข้างสนาม ซึ่งอาจจะเป็นเวลาต่อรอบ ฯลฯ ที่ทีมต้องการจะสื่อสารกับนักแข่งในสนาม และเมื่อการแข่งขันดำเนินมาถึงจนกรรมการโบกธงตราหมากรุก นั่นก็หมายถึงการแข่งขันได้สิ้นสุดลง นักแข่งนำรถกลับเข้าพิท ผู้ที่ผ่านธงตราหมากรุก 3 อันดับแรก ต้องนำรถมาที่ปาร์คเฟิร์มหรือจุดเก็บรถสำหรับนักแข่งที่ขึ้นโพเดี้ยม เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การขึ้นโพเดี้ยมในเวลาต่อมา โดยบนโพเดี้ยมจะทำการมอบรางวัลให้กับนักแข่งที่ได้อันดับที่ 3 จากนั้นก็ไล่มาอันดับ 2 และผู้ชนะประจำสนาม หลังมอบถ้วยรางวัลก็เป็นการเปิดแชมเปญเพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ หลังลงจากโพเดี้ยมนักแข่งก็จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน และกลับเข้าพิทเพื่อร่วมแสดงยินดีและขอบคุณการทำงานของทีม Mechanic ทีมช่าง จากนั้นก็เป็นการพูดคุยถึงการปรับเซ็ทรถและจุดดีจุดด้อยของรถ เพื่อเป็นข้อมูลแก่ทีมช่างเพื่อไว้ใช้ในโอกาสต่อไป