นอกจากนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการออก “ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ พ.ศ. 2565” หรือตัดแต้มใบขับขี่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 9 มกราคม 2566
โดยผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งไม่ว่าจะมีใบขับขี่กี่ประเภท จะมีคะแนนความประพฤติคนละ 12 คะแนน หากทำผิดกฎจราจรในข้อหาที่ระบุไว้ จะถูกตัดคะแนนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้คะแนนที่ถูกตัดไปจะได้รับคืนเมื่อเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก หรือรอให้ครบ 1 ปี ก็จะได้คะแนนคืนอัตโนมัติ แต่หากผู้ขับขี่ถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือห้ามขับรถ (ทุกประเภท) เป็นเวลา 90 วัน และหากฝ่าฝืนขับรถในขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รายละเอียดการตัดคะแนน จะมีการแบ่งกลุ่มความผิด 2 แบบ ดังนี้
แบบที่ 1 ตัดคะแนนทันทีที่ทำผิด
ความผิดในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มความผิดหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะถูกตัดคะแนนตั้งแต่ 1-4 คะแนน ขึ้นอยู่กับว่าทำผิดในข้อหาใด โดยรายละเอียดในการตัดคะแนน มีดังนี้
– ตัด 1 คะแนน เช่น ไม่สวมหมวกกันน็อก, ขับบนทางเท้า, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย, ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย, ขับรถเร็วเกินกำหนด, ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ, ไม่ติดป้ายทะเบียน, ไม่ติดป้ายภาษี, ไม่หลบรถฉุกเฉิน
– ตัด 2 คะแนน เช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับย้อนศร ขับรถในระหว่างโดนพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่
– ตัด 3 คะแนน เช่น ขับรถชนแล้วหนี ขับรถผิดวิสัยไปจากการขับธรรมดา ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
– ตัด 4 คะแนน เช่น เมาแล้วขับ แข่งรถบนถนน ขับรถในขณะเสพยาเสพติด
แบบที่ 2 ตัดคะแนนเมื่อไม่ชำระค่าปรับ
การตัดคะแนนในแบบที่ 2 นี้ เกิดจากกลุ่มความผิดอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวกับรถหรือการใช้ทาง จำนวน 42 ฐานความผิด ซึ่งจะถูกตัดคะแนนเฉพาะในกรณีที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งในเวลาที่กำหนดเท่านั้น เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด, ขับรถไม่ซิดซ้าย, ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่, ฝ่าฝืนเครื่องหมายทาง เป็นต้น
|