ไม่ว่าคุณจะเป็นไบเกอร์มือใหม่หรือรุ่นใหญ่ เราเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าวิธีที่จะทำให้รถมอเตอร์ไซค์อยู่กับเราไปนานๆ และสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยนั่นก็คือการที่เจ้าของรถต้องหมั่นดูแลมอเตอร์ไซค์ คอยตรวจเช็กสภาพให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ แต่ขณะเดียวกันหลายคนก็มักจะละเลยเรื่องนี้ไปจนทำให้อะไหล่ต่างๆ เสียหาย และบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานั้นขึ้นกับคุณ วันนี้เราขอเตือนความจำด้วยบทความที่จะพาคุณไปทำความรู้จัก 5 อะไหล่สำคัญที่คนมักละเลย พร้อมวิธีดูแลรักษาง่ายๆ ที่สามารถช่วยป้องกันปัญหาใหญ่ที่อาจจะตามมาได้
|
|
1.แบตเตอรี่
แบตเตอรี่คืออุปกรณ์สำคัญในระบบไฟของรถมอเตอร์ไซค์ โดยมีหน้าที่เก็บไฟและจ่ายพลังงานกระแสตรงไปยังระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในรถ การดูแลแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ด้วยตัวเองสามารถทำได้ ดังนี้
-
เช็กดูคราบเกลือที่เกิดขึ้นที่ขั้วบวกขั้วลบและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
-
ควรนำรถมอเตอร์ไซค์ไปตรวจเช็กแรงเคลื่อนของแบตเตอรี่ที่ศูนย์บริการทุกๆ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย
-
สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้ใช้งาน ควรถอดขั้วลบออก
|
|
2.สายพาน
สายพานคืออะไหล่สำคัญในรถจักรยานยนต์เกียร์ออโตเมติก โดยทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนร่วมกับระบบเกียร์แบบอัตโนมัติ (Continuous Variable Transmission หรือ CVT) โดยทั่วไปอายุการใช้งานของสายพานจะอยู่ที่ระยะประมาณ 24,000 กิโลเมตรขึ้นไปหรือตามที่คู่มือผู้ใช้งานระบุไว้ แต่ก็อาจจะสามารถเสื่อมสภาพก่อนกำหนดได้เช่นกัน ดังนั้น ใครขี่มอเตอร์ไซค์ออโตเมติกอยู่จึงไม่ควรละเลยการดูแลสายพานอยู่เสมอ เช่น การถอดชุดสายพานออกมาทำความสะอาดคราบฝุ่นละอองและคราบจาระบี น้ำมันหล่อลื่นหรือสารหล่อลื่นต่างๆ ที่อาจจะทำให้สายพานลื่นและส่งผลต่อระบบการขับเคลื่อนได้
|
|
3.หัวเทียน
สำหรับหัวเทียนคืออะไหล่เล็กๆ ที่ทำหน้าที่สร้างประกายไฟสำหรับจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ ถึงจะเป็นแค่อะไหล่ชิ้นเล็กๆ แต่ก็ไม่ควรละเลย โดยเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์สามารถดูแลหัวเทียนได้ด้วยการนำออกมาเช็ดทำความสะอาดเพื่อไม่ให้รถเกิดอาการกระตุกจนดับกลางทางได้ หากพบว่ามีคราบเขม่าดำๆ หรือน้ำมันเกาะอยู่ที่หัวเทียน แสดงว่าหัวเทียนอาจจะบอด ทำให้รถสตาร์ทไม่ติดหรือสตาร์ทติดยากและเครื่องยนต์อาจกระตุกได้ หากพบอาการดังกล่าวควรเปลี่ยนหัวเทียน
|
|
4.ระบบกันสะเทือน
ในระบบกันสะเทือนของรถมอเตอร์ไซค์มีอะไหล่สำคัญที่ไม่ควรละเลยนั่นคือ ‘โช๊คอัพ’ ที่มีหน้าที่ช่วยซับแรงกระแทกรวมไปถึงช่วยชะลอการคืนตัวของสปริงหลังจากการยุบตัว หลังจากรับแรงกดจากการขับขี่หรือจากผลกระทบของสภาพถนนทั้งจากล้อหน้าและล้อหลัง ทำให้การขับขี่มีความนุ่มนวลและช่วยให้เลี้ยวเข้าโค้งได้ดีขึ้นทั้งล้อหน้าและล้อหลังของรถมอเตอร์ไซค์
สำหรับการดูแลระบบกันสะเทือนสามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดแกนโช๊คสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มีฝุ่นและเศษดินเกาะมากเกินไป หลีกเลี่ยงการบรรทุกหนักเกินเกณฑ์เป็นประจำ รวมถึงปรับพฤติกรรมการใช้งาน เช่น เลี่ยงการขี่ด้วยความเร็วสูงเป็นประจำ เลี่ยงการขี่ลุยป่าหรือขี่บนทางลูกรังบ่อยครั้งเพื่อลดการกระแทกแรงๆ และลดความเสี่ยงที่ฝุ่นหรือเศษดินจะหลุดเข้าไปในแกนโช๊ค
|
5.การเช็กคู่มือประจำรถ
ข้อนี้ถือว่าเป็นอะไรที่พื้นฐานที่สุดและสำคัญที่สุด เพราะการที่เราจะสามารถดูแลอะไหล่ต่างๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ได้อย่างดีและถูกต้องนั้น เราต้องรู้จักรถมอเตอร์ไซค์ของเราก่อน ซึ่งก็สามารถศึกษาด้วยตัวเองได้โดยการเช็กคู่มือประจำรถที่จะมีบอกข้อมูลสำคัญ ตั้งแต่ฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ไปจนถึงการดูแลรักษาเบื้องต้น
|
จริงๆ แล้วทุกอะไหล่ของรถมอเตอร์ไซค์ล้วนมีความสำคัญและไม่ควรละเลย เพราะทุกอย่างต่างทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ถ้าจะให้ดีก็ควรดูแลรักษาอะไหล่ทุกชิ้นส่วนอย่างสม่ำเสมอ หากไม่มีความชำนาญมากพอ ก็สามารถนำรถไปเข้าศูนย์เช็กได้โดยช่างผู้ชำนาญมืออาชีพที่รอช่วยเหลืออยู่ โดยสามารถเข้าไปได้ที่ ศูนย์ผู้จำหน่ายและบริการรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ทุกสาขา ทั่วประเทศ
แอดไลน์ยามาฮ่า @yamahasociety มาเป็นชาวแก๊งเดียวกัน ไม่พลาดทุกเทรนด์ของไบเกอร์ พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย!
|