ถ้าอยากให้อะไหล่รถมอเตอร์ไซค์มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เจ้าของมอเตอร์ไซค์ต้องอย่าลืมนำรถไปตรวจสภาพตามระยะทาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยในการใช้งานมอเตอร์ไซค์แล้ว วิธีนี้ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามระยะทาง โดยเฉพาะ 5 อะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ชิ้นสำคัญ ต่อไปนี้
|
|
1.ผ้าเบรก
ระบบเบรกมอเตอร์ไซค์มีหลายส่วนประกอบทำงานร่วมกัน ถ้าไล่จากบนลงล่างก็จะมีตั้งแต่ กระบอกแม่ปั๊มเบรก ที่จะเปลี่ยนแรงกลเป็นแรงดันไฮดรอลิกผ่านสายท่อต่างๆ ไปยังคาลิเปอร์เบรก โดยมีน้ำมันเบรกถูกสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของระบบเบรก รวมถึงผ้าเบรกซึ่งรับแรงดันมาจากลูกสูบของคาลิเปอร์ และจะจับกับจานเบรกที่อยู่ติดกับล้อเพื่อสร้างแรงเสียดทานและทำให้ความเร็วลดลงจนถึงหยุดนิ่ง
การดูแลผ้าเบรก
-
ทุกครั้งที่ล้างรถ อย่าลืมล้างทำความสะอาดจานเบรกอยู่เสมอ เพราะถ้าปล่อยให้มีสิ่งสกปรกเกาะที่จานเบรกจนแข็งตัว ผ้าเบรกก็จะทำงานหนักและสึกหรอได้ง่ายขึ้น
-
เช็กผ้าเบรกเป็นประจำด้วยวิธีง่ายๆ คือ เหยียบหรือกำเบรก ถ้ารู้สึกว่าก้านเบรกลึกกว่าปกติก็เป็นไปได้ว่าผ้าเบรกอาจจะหมด
-
พยายามไม่ขี่มอเตอร์ไซค์เร็วเกินไปและขี่อย่างมีสติเพื่อหลีกเลี่ยงการเบรกฉุกเฉิน ซึ่งทำให้ผ้าเบรกทำงานมากกว่าปกติ
-
ไม่กำหรือเหยียบเบรกแช่ไว้ เพราะวิธีนี้จะทำลายทั้งผ้าเบรกและจานเบรก
|
|
2. โซ่มอเตอร์ไซค์
ระบบส่งกำลังแบบโซ่ เป็นระบบส่งกำลังที่นิยมใช้ในรถมอเตอร์ไซค์หลากหลายประเภท ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ครอบครัวไปจนถึงมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ราคาสูง โดยระบบส่งกำลังแบบโซ่จะอาศัยการทำงานร่วมกันของโซ่และเฟืองเป็นหลักในการส่งกำลังขับเคลื่อน มีข้อดีตรงที่สูญเสียกำลังขับเคลื่อนน้อย อีกทั้งต้นทุนการผลิตก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ
ขณะเดียวกันก็เป็นระบบที่มีความแข็งแรง ทนทาน ซึ่งโดยปกติแล้วโซ่จะมีอายุการใช้งานที่นานกว่าสายพาน ดูแลรักษาง่าย สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เช่น การตั้งโซ่ การหยอดน้ำมันหล่อลื่น รวมถึงการทำความสะอาดโซ่ที่เรากำลังจะแนะนำ
การทำความสะอาดโซ่มอเตอร์ไซค์
-
ตั้งขาตั้งคู่เตรียมพร้อมทำความสะอาด
-
ฉีดน้ำยาล้างโซ่รถมอเตอร์ไซค์ลงบนโซ่ ทิ้งไว้สักพักให้น้ำยาล้างโซ่ขจัดคราบสกปรก
-
ขัดตามซอกต่างๆ ของโซ่ให้ทั่วถึงด้วยแปรงขัดโซ่หรือแปรงสีฟันเก่า
-
ใช้น้ำสะอาดล้างน้ำยาล้างโซ่และคราบสกปรกให้หลุดออก
-
ใช้ผ้าสะอาดเช็ดโซ่มอเตอร์ไซค์ให้แห้ง
-
นำรถมอเตอร์ไซค์ไปขี่อีกสักรอบ เพื่อให้คราบสกปรกที่อาจติดค้างอยู่หลุดออกไปให้หมด และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีน้ำค้างในโซ่ซึ่งอาจทำให้เกิดสนิมได้
-
ลงน้ำยาหล่อลื่นโซ่ให้ทั่วเพื่อป้องกันสนิมและยืดอายุการใช้งาน
|
|
3. แบตเตอรี่
แบตเตอรี่คืออุปกรณ์สำคัญในระบบไฟของรถมอเตอร์ไซค์ที่ทำหน้าที่เก็บไฟและจ่ายไฟไปยังระบบต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า เช่น ระบบจุดระเบิด ระบบหัวฉีด รวมถึงชุดมอเตอร์สตาร์ทเครื่องยนต์ในมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ระบบสตาร์ทมือ ซึ่งอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยของแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์จะอยู่ที่ 2 ปี แต่ก็สามารถเสื่อมสภาพได้เร็วกว่านั้นหากไม่ดูแลรักษา
การดูแลแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์
-
เช็กดูขี้เกลือในขั้วบวกขั้วลบ โดยถอดฝาครอบแบตเตอรี่และถอดขั้วสายไฟออก (ถอดลบก่อนบวก) หากพบว่ามีขี้เกลือติดอยู่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออกหรือขัดด้วยแปรงลวดขัดให้สะอาด ห้ามใช้ผ้าแห้งเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตย์และแบตเตอรี่อาจจะระเบิดได้
-
ทำความสะอาดเสร็จแล้วให้ใส่ขั้วแบตเตอรี่เข้าไปเหมือนเดิม (ใส่บวกก่อนลบ)
-
ถ้าจำเป็นต้องจอดรถมอเตอร์ไซค์ทิ้งไว้เป็นเวลานานควรถอดขั้วลบออก
|
|
4. โช๊ค
โช๊คอัพ เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญในระบบกันสะเทือนของรถจักรยานยนต์ โดยมีหน้าที่ช่วยซับแรงกระแทกรวมไปถึงช่วยชะลอการคืนตัวของสปริงหลังจากการยุบตัว หลังจากรับแรงกดจากการขับขี่ หรือ จากผลกระทบของสภาพถนนทั้งจากล้อหน้าและล้อหลัง ทำให้การขับขี่มีความนุ่มนวลและช่วยให้เลี้ยวเข้าโค้งได้ดีขึ้น ดังนั้น โช๊คอัพ จึงเป็นชิ้นส่วนที่ไบค์เกอร์ต้องคอยดูแลรักษาตามระยะการใช้งาน เพราะมีหลายปัจจัยที่อาจทำให้โช๊คอัพเกิดการรั่วซึมหรือเสื่อมสภาพได้
การดูแลโช๊คมอเตอร์ไซค์
การดูแลโช๊คอัพและสปริงต่างๆ ทั้งล้อหน้าและล้อหลังของรถมอเตอร์ไซค์ สามารถทำได้ง่ายๆ หลายวิธี เริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดแกนโช๊คสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มีฝุ่นและเศษดินเกาะมากเกินไป เพราะอาจจะหลุดเข้าไปสร้างความเสียหายภายในโช๊คอัพได้ หลีกเลี่ยงการบรรทุกหนักเกินเกณฑ์เป็นประจำ รวมถึงปรับพฤติกรรมการใช้งาน เช่น เลี่ยงการขี่ด้วยความเร็วสูงเป็นประจำ เลี่ยงการขี่ลุยป่าหรือขี่บนทางลูกรังบ่อยครั้งเพื่อลดการกระแทกแรงๆ และลดความเสี่ยงที่ฝุ่นหรือเศษดินจะหลุดเข้าไปในแกนโช๊ค
|
|
5. ลูกสูบมอเตอร์ไซค์
ลูกสูบ (Piston) คือชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกระบอกสูบ ทำหน้าที่รับแรงผลักที่ได้จากการเผาไหม้และส่งกำลังนี้ไปยังเพลาข้อเหวี่ยงโดยผ่านก้านสูบ ลูกสูบจะต้องมีความแข็งแรงมากพอที่จะรับแรงผลักและความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องเผาไหม้ได้
การดูแลลูกสูบมอเตอร์ไซค์
อาการกวนใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับลูกสูบก็คือ ‘ลูกสูบติด’ ซึ่งเป็นอาการที่ลูกสูบไม่สามารถขยับได้ระหว่างที่เครื่องยนต์กำลังทำงาน โดยมีสาเหตุมาจากการไม่มีน้ำมันเครื่องที่ใช้หล่อลื่นภายในเครื่องยนต์ สิ่งที่ตามมาคือลูกสูบและกระบอกสูบอาจเป็นรอย หรืออาจจะถึงขั้นลูกสูบแตกเลยก็ได้
ปัญหาลูกสูบติดสามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะทางที่กำหนด อีกทั้งไม่ปรับแต่งกรองอากาศและเปลี่ยนกรองอากาศตามระยะที่กำหนด เพื่อให้อากาศที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้สะอาด ยืดอายุลูกสูบให้ยาวนานมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายห้ามปรับแต่งเครื่องยนต์เด็ดขาด
|
หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว หวังว่าจะช่วยให้เหล่าไบค์เกอร์สามารถตรวจเช็กและดูแลอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อยืดอายุการใช้งานของอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ให้ไม่เสื่อมสภาพก่อนอายุการใช้งาน หรือจะเข้าไปตรวจเช็กสภาพอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์ได้ที่ ศูนย์ผู้จำหน่ายและบริการรถจักรยายนยนต์ยามาฮ่า ทุกสาขา ทั่วประเทศ และสำหรับใครที่กำลังมองหารถมอเตอร์ไซค์ที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตหรือสไตล์ที่ชื่นชอบอยู่ล่ะก็ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดรถมอเตอร์ไซค์รุ่นต่างๆ ได้ที่นี่
|