Blog-Tamroy-EP10-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง : ต่อรอยพระบาทของพ่อ ที่บ้านเลอตอ โครงการหลวงที่ 39 และบทสรุปกว่า 5,000 กม. จากพื้นราบสู่ยอดดอย 38 โครงการหลวง 48 ปี กับ 38 โครงการหลวง


    

         นับตั้งแต่จัดตั้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในปีพ.ศ. 2512 จนมาถึง โครงการหลวงผาตั้ง ที่จัดตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2550 ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าความมุ่งหมายของโครงการหลวง ตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ไม่ได้ต้องการแค่ให้ชาวไทยภูเขามีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งหมายให้ผลผลิตจากโครงการหลวงเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นไปเพื่อมนุษยธรรมอีกด้วย แม้ในวันนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสร็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่อาสาสมัครของโครงการหลวงทุกคนก็มีความตั้งใจจะทำโครงการหลวงถวายต่อไป และแล้วโครงการหลวงแห่งใหม่ โครงการหลวงที่ 39 ก็เปิดตัวขึ้น จะน่าสนใจขนาดไหน ตามพวกเราไปชมกันเลย
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ
เลอตอ โครงการหลวงที่ 39 ในวันที่พ่อมองเราจากบนฟ้า
 
            ตลอดระยะเวลาที่เราออกเดินทาง ก็มีเรื่องราวที่สร้างความตื่นเต้นให้กับพวกเราอยู่หลายเรื่อง แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำให้พวกเราตื่นเต้นกันเป็นพิเศษ แล้วก็ใจจดใจจ่อขอให้ข่าวนี้เป็นเรื่องจริง เพราะยิ่งเข้าสู่ช่วงท้ายของการเดินทางมากขึ้นเท่าไหร่ข่าวก็ยิ่งหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ข่าวที่ว่าก็คือข่าวของโครงการหลวงน้องใหม่แห่งที่ 39 ซึ่งสุดท้ายพวกเราก็ไม่อยากมามัวนั่งรอฟังอะไรให้เสียเวลา ตัดสินใจไปให้เห็นกับตา
            ตั้ง GPS มุ่งหน้าบ้านเลอตอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งสามารถไปได้ 2 ทาง คือไปทางอำเภอท่าสองยาง ระยะทางประมาณ 370 กม. ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 8 ชม. กับอีกเส้นทางหนึ่ง ก็คือเส้นที่พวกเราเลือกใช้นี่แหละ ซึ่งจะไปทางอำเภออมก๋อย เพื่อมุ่งหน้าไปยังบ้านแม่ตื่น ต่อไปยังบ้านเลอตอ ซึ่งเส้นทางนี้จะประหยัดเวลาและระยะทางมากกว่า โดยใช้ระยะทางแค่ 280 กม. เวลาเดินทางประมาณ 5 ชม.ครึ่ง
          ส่วนเส้นทางเข้าหมู่บ้านนี่บอกไว้เลยถ้าใครจะมาก็เตรียมใจวิบากไว้เลย เพราะถนนที่เข้าไปยังหมู่บ้านก็ยังเป็นทั้งทางดิน คลื่น หลุม เป็นบ่อ ตลอดทาง ถนนแบบนี้ถ้ามาตอนหน้าฝนคงไม่ต้องสืบ ได้ลงเดินเข็นรถแน่นอน
             โครงการหลวงเลอตอ จัดตั้งขึ้นจากการที่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ได้ทราบข่าวที่ทหารเข้าไปตัดต้นฝิ่นในไร่ของชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดตาก และยังรายงานว่าแค่ตัดต้นฝิ่นไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะตัดตรงนี้ก็ไปปลูกใหม่ทางโน้น สงสารก็แต่ชาวเขาที่หมดหนทางทำมาหากินที่สุจริต หม่อมเจ้าภีศเดชจึงเห็นว่าถ้าใช้วิธีการตามแบบโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย ซึ่งภายใน โครงการหลวงเลอตอ เท่าที่เราสังเกตเห็นตอนนี้ น่าจะสนับสนุนให้ปลูกผักสลัด กับสตรอว์เบอร์รี และวันนี้ก็นับว่าเป็นวันโชคดีของเรา เพราะมาทันได้เห็นการลงมีดแรกเพื่อเก็บผักของที่นี่ แถมสตรอว์เบอร์รีที่เพาะปลูกบนแปลงแบบขั้นบันไดก็กำลังโตสวยงามพอดี นอกจากนี้วิวที่นี่ก็สวยงามจับใจ ได้เห็นทะเลหมอกอยู่ไกลๆ และในเมื่อพวกเรามาถึงขนาดนี้แล้ว จะให้ไปไหนต่อได้อีกล่ะ ปักเต็นท์นอนซึมซับบรรยากาศที่นี่แหละ เข้าท่าที่สุดแล้ว
 
            หลังจากที่เราเดินชมโครงการแห่งใหม่ล่าสุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็มานั่งคุยกันถึงเรื่องราวตลอดการเดินทางในครั้งนี้ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มออกตัว จนมาถึงยังบ้านเลอตอนี่ ซึ่งพวกเราเองก็อยากชวนเพื่อนๆ มาร่วมฟัง ร่วมแชร์ด้วยกันกับเรานะครับ
             ก่อนเดินทางพวกเรามีข้อมูลไม่มากนัก หลักๆ ก็เป็นข้อมูลพื้นฐานเสียมากกว่า ทั้งๆ ที่โครงการหลวงอยู่ไม่ไกลตัวเรามากนัก มีความคิดในใจเพียงแค่ว่า ถ้าพูดถึงโครงการหลวง คงจะนึกถึงเพียงสถานที่ปลูกผัก ปลูกสตรอว์เบอร์รี ของชาวเขาในเขตภูเขาห่างไกล กับถนนหนทางทุรกันดารเพียงเท่านั้น แต่เมื่อยิ่งค้น ยิ่งศึกษา กลับพบว่าสิ่งที่เรารับรู้มาอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น
              ทริปแห่งการค้นหาความหมายของพวกเราชาว mocyc.com ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งเราก็โชคดีที่ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ได้สนับสนุนให้เราได้ไปนำเรื่องราวของโครงการหลวงมาเผยแพร่กับคนอีกหลายคนที่ยังไม่ได้มีโอกาสเดินทางไป
             เมื่อเราได้ไปสัมผัสกับโครงการหลวงครบทั้ง 38 โครงการ ประสบการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความประหลาดใจให้พวกเราอยู่ไม่น้อย เมื่อพบว่าบางโครงการได้ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิเช่น โครงการหลวงอินทนนท์ โครงการหลวงอ่างขาง และพบว่าบางสถานที่ท่องเที่ยวที่เราคุ้นเคย ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวง ไม่ว่าจะเป็น โครงการหลวงตีนตก (แม่กำปอง) โครงการหลวงหนองหอย (ม่อนแจ่ม) โครงการหลวงวัดจันทร์ (ป่าสนวัดจันทร์) เป็นต้น ซึ่งเราทั้ง 3 คนไม่เคยรู้มาก่อน
 
         สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เรามีความเข้าใจที่มาที่ไปของโครงการหลวงแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั้ง 38 โครงการ ก็คือการที่เราได้พบเจอกับเส้นทางที่สวยงามหลากหลายเส้นทาง หลากหลายรูปแบบ ซึ่งก็ต่างจากที่เราเคยคิดว่า การไปโครงการหลวงนั้นยากลำบาก เพราะปัจจุบันทุกเส้นทางที่ไปโครงการหลวงนั้นล้วนถูกพัฒนามากกว่าแต่ก่อน เหมือนดั่งคำพูดของเจ้าหน้าที่โครงการหลวงท่านหนึ่งบอกกับเราว่า "ที่ไหนมีโครงการหลวง ก็จะมีสิ่งที่ตามมาก็คือ ที่นั่นไฟฟ้าเข้าถึง ถนนเข้าถึง" แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางไปโครงการหลวงจะง่ายดายเหมือนกันหมดทุกที่ เพราะบางที่ก็ยังเป็นถนนลูกรัง บ้างก็ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงชัน บ้างก็ตวัดลัดเลาะภูเขา  
 
 
 
            มีบางเส้นทางอย่างทางลัดจาก บ้านป่าแป๋ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการหลวงแม่สะเรียง ไปยัง โครงการหลวงแม่ลาน้อย ซึ่งเราต้องเจอกับสะพานข้ามแม่น้ำที่ขาด แต่โชคดีที่รถจักรยานยนต์ยามาฮ่าที่เราใช้เดินทางนั้นตอบสนองการใช้งานได้ดี รถก็สามารถวิ่งผ่านน้ำได้สบายๆ ไม่มีดับกลางทาง ขึ้นเขา ลงเขาได้ ถึงแม้ว่าบางเส้นทางจะเป็นทางขึ้นเขาที่ชันมาก อย่างเส้นทางไป โครงการหลวงห้วยส้มป่อย ที่ในตอนแรกเราคิดว่าไม่น่าจะขึ้นเส้นทางนี้ได้ แต่เมื่อลองเดินทางแล้ว รถก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งกำลังเครื่องที่ต้องใช้ตอนขาขึ้นก็ถือว่าแรงเหลือ ๆ รวมถึงระบบเบรกที่ดีก็ช่วยให้เราขี่รถได้อย่างมั่นใจและรู้สึกปลอดภัย
         ตลอดระยะทางร่วม 5,000 กม. ที่พวกเราขี่ผ่าน และ 39 โครงการหลวงที่เราได้ไป ทุกรอยล้อที่เคลื่อนผ่าน ถือเป็นประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า โครงการหลวงไม่ใช่แค่เพียงพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา แต่ยังช่วยชาวพื้นราบด้วยการฟื้นฟูป่าไม้ และช่วยให้ประเทศไทยให้ห่างไกลจากยาเสพติด เมื่อการปลูกฝิ่นถูกไม้เมืองหนาวเข้ามาทดแทน
"... จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวมีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่ ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ..."
ความตอนหนึ่งจาก พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในการตอบคำถามที่ว่า "ไปช่วยทำไมกันชาวเขา" จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง
 
          ตะไคร้หอม คาโมมายด์ โรสแมรี่ ที่ โครงการหลวงขุนแปะ คือสิ่งแปลกใหม่สำหรับพวกเรา พืชที่เหมือนหญ้าเมื่ออยู่ในแปลงปลูก กลับถูกนำมากลั่นเป็นหัวน้ำหอมและสร้างมูลค่าสูง แล้วก็ยังมีมะเดื่อฝรั่ง เคพกูสเบอร์รี่ เสาวรส อะโวคาโด ลูกพลับ และมัลเบอรี่ คือไม้ผลที่โครงการหลวงได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูก และก็ทำรายได้ให้โครงการหลวงเป็นอย่างมาก อย่างลูกพลับจาก โครงการหลวงแม่แฮ สามารถทำรายได้สูงถึงปีละ 50 ล้านเลยทีเดียว
 
         อีกผลิตผลของโครงการหลวงที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ไม้ดอกก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่สำคัญของโครงการหลวง โดยเฉพาะดอกเบญจมาศ ที่เราจะเห็นได้ทั่วไปหากไป โครงการหลวงอินทนนท์ หรือที่ โครงการหลวงขุนวาง นอกจากนี้ยังมีดอกไม้ที่เราไม่เคยได้ยินชื่อเลย อย่าง ดอกดองดึง หรือ กอลิโอซ่า ที่ โครงการหลวงหนองเขียว และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือ ดอกดองดึงถือว่าเป็นไม้ดอกที่ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ให้กับโครงการหลวงเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสับปะรดสี ที่ชื่อเป็นผลไม้แต่กลับถูกเพาะเลี้ยงให้กลายเป็นไม้ประดับสีสันสวยงาม โดยใช้เทคนิค นำไปตากแดดในเวลาที่ต่างกัน เพื่อให้มีสีสันที่แตกต่างกันไป และสร้างมูลค่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ
 
 
 
           และนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น โครงการหลวงยังมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักอีกหลายชนิด ที่เราไม่คิดว่าจะปลูกได้ในเมืองไทย อย่าง ดอกเก็กฮวยเหลือง ที่ โครงการหลวงสะโงะ ที่นำพันธ์มาจากเมืองจีน พริกหวานสามสี ที่เราเคยคิดว่าเมืองไทยมีเพราะการนำเข้าเท่านั้น เบบี้แครอท เบบี้ฮ่องเต้ ข้าวโพดหวานสีม่วง และพืชเมืองหนาวอีกหลายร้อยชนิดที่เราไม่ได้กล่าวถึง จากที่เคยสงสัยว่าไม้เมืองหนาว สามารถนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยได้อย่างไร ก็เห็นจะได้คำตอบแล้วว่า ผลผลิตเหล่านี้ ล้วนเกิดจากงานวิจัยในโครงการหลวงทั้งสิ้น ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งสิ้น
             และนอกจากความหลากหลายของการเพาะปลูกแล้ว การได้เดินทางไปโครงการหลวงทั้งหมด ก็ทำให้เราได้สัมผัสกับผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น อาข่า (อีก้อ), ลาหู่ (มูเซอ), ม้ง ดาราอั้ง (ปะหล่อง), จีนยูนาน (จีนฮ่อ), ลีซู (ลีซอ), เมี้ยน (เย้า), ไทยใหญ่, คะฉิ่น, ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง), ไทยลื้อ และลั๊วะ เรายังพบว่าโครงการหลวงยังทำการส่งเสริมอาชีพนอกภาคเกษตร ได้แก่ การส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟูงานหัตถกรรมในชุมชน เพื่อเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน อย่างผ้าทอมือของชาวปกาเกอญอที่ โครงการหลวงแม่สะป๊อก และ บ้านแม่กลางหลวงในโครงการหลวงอินทนนท์ เป็นต้น นอกจากนี้เรายังได้มีโอกาสเห็นเสามะเนาชะโดง ที่เป็นเสาสูงหลาย ๆ ต้น เขียนสีลวดลายและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญที่สุดของชาวคะฉิ่นอีกด้วย
                การพักแบบโฮมสเตย์เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราได้เข้าถึงวิถีของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งก็มีหลายโครงการหลวงที่มีการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น โครงการหลวงแม่ลาน้อย โครงการหลวงห้วยน้ำริน โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ซึ่งจะทำให้ทุกคนที่ได้มีโอกาสไปเยือนจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการหลวงก็ไม่ได้มีแค่โฮมสเตย์เท่านั้น เพราะแทบทุกโครงการหลวงจะมีบ้านพักไว้รับรองนักท่องเที่ยวที่อยากไปสัมผัสกับโครงการหลวง อย่าง โครงการหลวงสะโงะ โครงการหลวงผาตั้ง และ โครงการหลวงแกน้อย ก็มีราคาค่าบำรุงสถานที่ถูกอย่างคาดไม่ถึงเลย
 
         สำหรับโครงการหลวงที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวดังๆ อย่าง โครงการหลวงอินทนนท์ โครงการหลวงอ่างขาง โครงการหลวงวัดจันทร์ โครงการหลวงปังค่า ก็จะมีที่พักที่สวยงามไม่ต่างจากของเอกชนเลย อยู่ที่ว่าเราอยากจะสัมผัสบรรยากาศแบบไหน
                 บทสรุปการเดินทางในครั้งนี้ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือความรู้ ความรัก และความประทับใจในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มีต่อปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ยังได้ความสุขใจจากการได้พบปะความสวยงามของสองข้างทาง ผู้คน วัฒนะธรรมท้องถิ่น ที่เคยได้ยินได้ฟังจากทีวี แต่ในวันนี้เราได้เข้ามาสัมผัสด้วยตาของตนเอง
              ระหว่างการเดินทางแม้บางเส้นทางจะยากลำบาก บางครั้งเราต้องเข็นรถข้ามลำห้วย ต้องลุยโคลน โดนฝนถล่ม แต่ความงามสองข้างทางหลังจากนั้นที่ได้เจอก็ถือว่าคุ้มค่า และรอยยิ้มของชาวเขาก็ทำให้เราได้รู้ว่า จริง ๆ แล้วความสุขไม่ได้แปรผันตรงกับความเจริญของวัตถุ แต่แปรผันตรงกับความงอกงามในจิตใจ
                 และเรื่องทั้งหมดนี้เราคงจะไม่รู้ ... ถ้าเราไม่ได้ออกเดินทางไปกับโครงการนี้ #ขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่โครงการหลวงทุกท่าน ที่คอยดูแลเรา ถึงแม้บางครั้งเราจะไม่ได้นัดล่วงหน้าเพื่อขอเวลา แต่เจ้าหน้าที่ทั้งหมดก็พร้อมจะสละเวลามาให้ข้อมูลกับเรา และพาเราไปเยี่ยมชมแปลงเพราะปลูก เพื่อให้เราได้สัมผัสกับโครงการหลวงแบบเข้าถึง เพื่อให้เราได้นำเรื่องราวของโครงการหลวงมาเผยแพร่กับคนอีกหลายคนที่ยังไม่ได้มีโอกาสเดินทางไป ขอขอบคุณครับ
 
"เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์มิได้ทรงจับปลาให้พวกเขา แต่พระองค์ทรงให้สิ่งที่ยั่งยืนกว่านั้น คือทรงสอนให้พวกเขาจับปลา พระองค์ทรงแนะวิธีพึ่งพาตนเองให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ให้รู้จักนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า และนี่คือศาสตร์ของพระราชา ที่ทรงมอบให้เป็นของขวัญแด่พสกนิกรของพระองค์ทุกคน "... เราจะช่วยเหลือเขา ให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีเราเขาอยู่ได้ ..."