Blog-Tamroy-EP03-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง : โครงการหลวงปางอุ๋ง โครงการหลวงขุนวาง โครงการหลวงแม่แฮ โครงการหลวงทุ่งหลวง โครงการหลวงแม่สะป๊อก

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง
ทุ่งดอกบัวตอง น้ำตกแม่สุรินทร์ มาถึง องุ่นหวาน 18 บีท อะโวคาโดเนื้อแน่ ที่ปางอุ๋ง
 
 
                 หลังจากได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติและไออุ่นกรุ่นกลิ่นกาแฟที่ โครงการหลวงแม่ลาน้อย แล้ว พวกเราก็พร้อมสำหรับจุดหมายต่อไป โครงการหลวงปางอุ๋ง ที่อยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่ - ฮอด ผ่านอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง แม่สะเรียง แม่ลาน้อย ถึงทางแยกไปอำเภอขุนยวม ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1263 และเราจะพบกับ โครงการหลวงปางอุ๋ง ที่อยู่บริเวณทางขวามือแต่ระหว่างทางก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่าง ทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ ซึ่งจะบานเป็นสีเหลืองสดสวยไปทั่วทุ่งในเดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม และน้ำตกแม่สุรินทร์ อยู่ในอุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ ถ้าเพื่อนๆ คนไหนมีโอกาสผ่านมาทางนี้ก็อยากให้มาลองแวะเข้ามาเที่ยวชมกันดูได้ สิ่งแรกที่เราสังเกตเห็นเมื่อมาถึง โครงการหลวงปางอุ๋ง ก็คือบรรยากาศที่ร่มรื่น คงเพราะว่าบริเวณนั้นมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มากมายปลูกอยู่เต็มไปหมด ช่วยให้คนที่เพิ่งมาถึงอย่างพวกเรารู้สึกสดชื่นขึ้นมาทันที
 
                แต่ที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็น ไผ่หม่าจู๋ เป็นไผ่ที่มีสายพันธุ์มาจากประเทศไต้หวัน ที่โครงการหลวงปางอุ๋งได้นำมาทดลองปลูกไว้
และระหว่างที่เราสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อยู่นั้น เราก็โชคดีได้เจ้าหน้าที่นำทางไปดูแปลงเพาะปลูกสาธิตของโครงการหลวง สำหรับที่นี่ได้
มีการส่งเสริมการเพาะปลูกไม้ผล เช่น อาโวคาโด สตรอว์เบอร์รี และองุ่น
 
 
                    แปลงปลูกสาธิตแรกที่เจ้าหน้าที่พาพวกเราไปดูคือ อะโวคาโดบนพื้นที่ 7 ไร่ ซึ่งให้ผลผลผลิตถึง 3,000 กก. ต่อปี ปลูกอยู่ทั้งหมด 340 ต้น ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แฮส เมล็ดเล็ก เนื้อเยอะ ถัดไปเป็นแปลงสตรอว์เบอร์รี มาถึงตรงนี้พวกเราได้แต่ยืนดูอยู่รอบนอก เพราะเนื่องจากตอนนี้เขากำลังเปิดสปริงเกอร์รดน้ำสตรอว์เบอร์รีอยู่ โดยสปริงเกอร์จะถูกปักไว้ให้สูงจากพื้นพอสมควร เพื่อให้น้ำกระจายทั่วถึงเปรียบเสมือนฝนกำลังตก ถึงขนาดว่าชาวบ้านที่ดูแลต้องเดินกางร่มกันเลยทีเดียว ส่วนองุ่นถ้าใครชอบเปรี้ยว ๆ ก็เก็บกินได้เลย แต่โดยปกติแล้วที่นี่จะกำหนดค่าความหวานขององุ่นไว้ที่ 18 บีทถึงจะเก็บได้
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
บร็อคโคโลนี บร็อคโคลี่ ผักชื่อเพราะ
 
                 หลังจากที่เราได้เดินทางไปโครงการหลวงปางอุ๋งแล้ว จุดหมายต่อมานั้นก็คือ โครงการหลวงขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเราวิ่งเลียบไปตามไหล่เขา จาก โครงการหลวงปางอุ๋ง ไปอำเภอแม่แจ่ม แล้วมุ่งหน้าขึ้นดอยอินทนนท์ไปอีก 20 กม. ก็จะถึงโครงการหลวงขุนวาง เป็นอีกเส้นทางที่วิวสวยติดตาตรึงใจมาก แล้วขึ้นเขากันยาวๆ แบบนี้ รถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องพร้อมใช้งานด้วย จับรถแล้วสบายใจเวลาขับขี่ อย่างตัวเราที่ขี่ Yamaha Exciter บอกเลยว่าสบายใจทุกครั้งเวลาขับขี่ เพราะขี่ไปได้ยาว ๆ ไม่มีติดขัดหรือดับกลางทาง
              
               โครงการหลวงที่ผ่านมาเราพบไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ชวนให้รู้สึกร่มรื่นมาแล้ว แต่สำหรับ โครงการหลวงขุนวาง ที่นี่มีไม้ดอกที่ทางโครงการหลวงปลูกไว้เองเต็มไปหมด ชวนให้บรรยากาศสดใส สดชื่นขึ้นไปอีก นอกจากนั้นที่นี่ยังมีการส่งเสริมการเพาะปลูกหลากหลายประเภท
อย่างพืชผัก เช่น ถั่วลันเตาหวาน บร็อคโคโลนี บร็อคโคลี่ ผักกาดหวาน มะเขือเทศ ไม้ดอกก็จะส่งเสริมให้ปลูกดอกเบญจมาศ และไม้ผลแนะนำให้ปลูกองุ่นดำไม่มีเมล็ด เป็นต้น ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของที่นี่ แน่นอนว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก ซากุระเมืองไทย หรือ ดอกพญาเสือโคร่ง ที่จะบานสะพรั่งเป็นสีชมพูตลอดเส้นทางในเดือนมกราคม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติชอบมาเดินเล่นและถ่ายรูปกัน
 
 
                     อีกหนึ่งสถานที่คือ ผาสองฤดู หรืออีกชื่อที่ชาวบ้านเรียกคือ ผาแง่ม ความที่ทรัพยากรป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ ทำให้บรรยากาศและวิวทิวทัศน์ของผาสองฤดูนั้นมีความสวยงามจนกลายเป็นสวรรค์ของคนรักการเดินป่าเลยทีเดียว แต่เพียงเพราะมีคนมักง่ายที่เมื่อขึ้นไปแล้วไม่รักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผาสองฤดูสกปรก ทางเจ้าหน้าที่อุทยาจึงปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไป เราก็ได้แต่หวังว่าสักวันทางเจ้าหน้าที่อุทยานจะเปิดผาสองฤดูให้นักท่องเที่ยวอย่างพวกเราได้ขึ้นไปชมความงาม สูดอากาศบริสุทธิ์กันอีกครั้ง
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ
ผักกาดหอมห่อสลัด อันดับ 1 ต้องที่แม่แฮ
 
               หลังจากที่เราเดินทางไปเยี่ยมชม โครงการหลวงขุนวาง แล้ว พวกเราก็ได้เดินทางต่อไปที่ โครงการหลวงแม่แฮ เส้นทางคล้ายๆ กับดอยอินทนนท์มา โครงการหลวงขุนวาง แต่วันที่เราไปนั้นเจอฝนและหมอก ทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบากเลยทีเดียว แต่ความในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะพอเราไปถึงก็มีเจ้าหน้าที่พาพวกเราเดินดูบริเวณ โครงการหลวงแม่แฮ ซึ่งโครงการหลวงนี้จะพัฒนาและคอยส่งเสริมให้ปลูกผักกาดหอมห่อสลัด หรือที่ภาษาเมืองเรียกว่า ผักกาดแก้ว ที่นี่จะปลูกมากที่สุดในโครงการหลวงเลย ส่งขายเป็นอันดับที่ 1ของโครงการหลวงทั้ง 38 ดอย ปีหนึ่งสร้างรายได้เกือบ 30 ล้านบาท รองลงมาก็เป็นกะหล่ำปี และตระกูลผักใบที่เป็นผักสลัดทั้งหมด เช่น เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค  ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก เป็นต้น ส่วนผลไม้ตอนนี้กำลังปลูกสตรอว์เบอร์รี องุ่น กีวี แต่ที่ปลูกเยอะที่สุดเลยคือ พลัม ซึ่งใครมีโอกาสได้มาที่นี่แล้วมองขึ้นไปบนเขาก็จะเห็นต้นพลัมปลูกอยู่เต็มไปหมด ที่ โครงการหลวงแม่แฮ นี่ปลูกพลัมเยอะที่สุดในประเทศไทยแล้ว และถ้าใครไม่รู้ว่าต้นพลัมหน้าตาเป็นอย่างไร ให้นึกถึงต้นส้ม ลักษณะจะคล้าย ๆ กัน
 
             อย่างหนึ่งที่เราเห็นและชอบใจมากคือ ที่นี่เค้าปลูกสตรอว์เบอร์รีไว้ใต้ต้นพลัม เป็นการใช้พื้นที่ได้คุ้มค่าแถมร่มเงาของต้นพลัมยังช่วยบังแดดให้สตรอว์เบอร์รีได้อีกด้วย เหมือนเป็นการให้ธรรมชาติคอยเกื้อกูลกันเอง ซึ่งสตรอว์เบอร์รีนี้ก็เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่ง ที่มีการปลูกเยอะที่สุด
ในบรรดาโครงการหลวงทั้งหมดไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้ชาวบ้านที่เป็นชาวเขา ชาวดอย จะเป็นคนปลูกเองทั้งหมด เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังต่อว่า ทางเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงจะเป็นคนคอยแนะนำและสอนให้ทำในตอนแรก โดยจะมีแปลงสาธิตเพื่อให้ชาวบ้านมาได้เรียนรู้และฝึกฝนการเพาะปลูก ทั้งการปลูก ระยะห่าง การใส่ปุ๋ย วิธีการดูแลรักษา ฯลฯ เมื่อดูเสร็จชาวบ้านเขาก็จะเอาความรู้และเทคโนโลยีเหล่านี้ไปทำเอง แล้วโครงการหลวงก็จะรับซื้อผักจากเขา ซึ่งก็จะซื้อกันตลอดทั้งปี
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง
ทำไมผักของโครงการหลวงถึงราคาสูง? ตามมาดูที่โรงคัดแยกผักโครงการหลวงสิ
 
           ห่างกันไม่ไกลจาก โครงการหลวงแม่แฮ ก็คือ โครงการหลวงทุ่งหลวง ซึ่งจะส่งเสริมการเพาะปลูกคล้าย ๆ กับโครงการหลวงแม่แฮ เช่น ตระกูลผักสลัดต่าง ๆ แต่ที่แตกต่างกันคือที่นี่ปลูก องุ่นดำไร้เมล็ดด้วย หลังจากพวกเราเดินดูแปลงองุ่นกันเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็พาเราไปโรงคัดแยกผัก ทำให้พวกเราได้รู้ว่าทำไมผักของโครงการหลวงถึงราคาสูงกว่าผักตามท้องตลาด ก็เพราะว่ากว่าจะได้ผักที่ดีมีคุณภาพมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ ผักทั้งหมดต้องผ่านขั้นตอนการคัดสรรมากมายหลายขั้นตอนเลยทีเดียว แค่ผักที่เจ้าหน้าที่เขาคัดออกนี่ยังสวยกว่าผักตามตลาดที่เราซื้อกินทุกวันเสียอีก
 
 
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก
พืชผักอาจจะปลูกเหมือน ๆ กัน แต่ผ้าพื้นเมืองทอมือ แม่สะป๊อกเป็นที่หนึ่ง!! ไม่มีสอง!!
                 และสถานที่สุดท้ายของวันนี้คือ โครงการหลวงแม่สะป๊อก ที่เราต้องเดินทางต่อจากโครงการหลวงทุ่งหลวงไปอีก 20 กม. สำหรับ โครงการหลวงแม่สะป๊อก ก็จะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักเมืองหนาวทั่วไป เหมือนกับโครงการหลวงที่อื่น ๆ แต่ที่แตกต่างและสำคัญคือที่นี่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านทำ ผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองทอมือ พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปดูที่ บ้านแม่สะป๊อกใต้ ซึ่งชาวบ้านเขาก็กำลังนั่งทอผ้ากันอยู่ แล้วก็เล่าให้เราฟังด้วยว่ากว่าจะได้ผ้าทอมือ 1 ผืน พวกเขาต้องใช้เวลาประมาณ 1 – 2 วันเลยทีเดียว ซึ่งราคาผ้าทอมือเหล่านี้ก็ไม่ได้แพงมากเหมือนตามท้องตลาดทั่วไป แบบนี้ถ้าเพื่อนๆ คนไหนชื่นชอบผ้าทอมือเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามพลาดเลยทีเดียว เพราะซื้อที่ต้นทางยังไงก็ถูกกว่าซื้อจากคนกลางแน่นอน
       
                 ปิดท้ายกันด้วยสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ เย็น ๆ อย่าง น้ำตกแม่สะป๊อก ซึ่งเราต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 200 เมตร ตลอดทางเดินร่มรื่นเพราะมีต้นไผ่ขึ้นอยู่เต็มไปหมด ทำให้พวกเราเดินไปกันแบบสบายๆ เมื่อเราไปถึงบริเวณน้ำตกพวกเราก็แทบจะกระโดดลงไปเล่นน้ำเลยทีเดียว แต่ก็ต้องยั้งตัวเองไว้เพราะไม่มีใครเอาชุดมาเปลี่ยนเลยสักคน ก็เลยได้แต่ยืนมองน้ำใสๆ ไหลลงมาเย็นๆ กันตาปริบๆ และสักพักก็ต้องเหลียวหันไปสนใจบรรยากาศโดยรอบแทน ซึ่งก็พบว่ามันช่างแสนสวยงามเย็นตาจริงๆ คงเป็นเพราะรอบน้ำตกแม่สะป๊อกนี้เต็มไปด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้น้ำตกมีน้ำไหลลงมาตลอดทั้งปี
 
                 "สรรพสิ่งที่สมบูรณ์ ย่อมเกื้อกูลถิ่นอาศัย" คำกล่าวนี้เห็นจะจริง จากที่เราได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของน้ำตกแม่สะป๊อก ก็ทำให้เราได้รู้ว่าชาวบ้านที่นี่ดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี เป็นการดูแลและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงปลูกฝังความคิดที่ให้คนช่วยป่าแล้วป่าก็จะช่วยคน แก่ชาวบ้านได้อย่างแยบยลด้วยวิธี "ทำให้เห็น" เมื่อชาวบ้านเขาเห็นว่าดูแลป่าแล้วดีอย่างไร เขาก็จะทำตามเอง