Blog-Tamroy-EP08-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง : โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น โครงการหลวงแม่ปูนหลวง โครงการหลวงห้วยน้ำริน โครงการหลวงห้วยโป่ง

      หลังจากพวกเราเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการหลวงในเขตเหนือสุดแดนสยาม อย่างจังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา แล้ว ในตอนที่ 8 นี้จึงเป็นเที่ยวที่เราต้องย้อนลงมาจากเขา จากดอย เพื่อไปทำความรู้จักกับโครงการหลวงแห่งอื่น ๆ กันต่อ โดยเริ่มที่ ...
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น
โฮมสเตย์ที่บ้านแม่จันใต้ หมู่บ้านที่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งที่ไฟยังเข้าไม่ถึง
 
           โดยพวกเราต้องเดินทางย้อนลงมา เข้าไปที่หมู่บ้านแม่ขะจาน เพื่อจะเดินทางต่อไปยังอำเภอเวียงป่าเป้า โดยเส้นทางที่จะพาเราไปยัง โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ถือเป็นทางขึ้นเขาที่ชันใช้ได้เลยทีเดียว แต่วิวสวยๆกับฟ้าใสๆ ก็ยังช่วยดึงอารมณ์เราไว้ได้ อีกอย่างวันนี้ท้องฟ้าใสมากจริงๆ ผิดกับเมื่อวานลิบลับเลย มันใสจนเรารู้สึกเหมือนถนนกำลังลอยอยู่บนฟ้า แล้วเรากับรถอยู่ตรงกลางมีวิวสองข้างทางล้อมรอบตัวเราอีกทีและเมื่อเราได้เดินทางมาถึง  โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น เราก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ทันที เลยได้รู้ว่าตอนนี้ผลผลิตส่วนใหญ่ของที่นี่ถูกเก็บไปเยอะแล้ว ซึ่งที่นี่สนับสนุนให้ปลูกทั้งไม้ผลและพืชผัก เช่น กาแฟ ลูกพลับ บ๊วย กะหล่ำดาว และโกโบ (รากไม้ญี่ปุ่น) ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ หมู่บ้านส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านแม่จันใต้ ชุมชนชาวอาข่าเล็ก ๆ ในหุบเขา ที่ต้องเดินทางจาก โครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น เข้าไปอีก 6 กม. ตลอดเส้นทางเป็นถนนดิน ทั้งลื่น ทั้งชัน ถ้าจะบอกว่าเป็นทางวิบากก็คงไม่ผิด โชคดีวันนี้ฝนไม่ตกลงมาอีก ไม่อย่างนั้นคงได้เละเทะกันแน่ ดีไม่ดีอาจเข้าไปไม่ถึงด้วยซ้ำ
 
 
            วันนี้อากาศจะร้อนหน่อย แต่บรรยากาศในบ้านแม่จันก็ดูร่มรื่นดี ที่พักแบบโฮมสเตย์ ที่ทุกคนจะได้สัมผัสกับวิถีชุมชนของชาวอาข่าจริงๆ ดื่มกาแฟ จิบชา ที่ปลูกเอง คั่วเอง และถึงแม้ว่าไฟฟ้าจะยังเข้าไม่ถึง ชาวบ้านเขาก็ได้ทดแทนด้วยการใช้พลังงานงานแสงอาทิตย์ ที่ได้จากแผงโซล่าร์เซลล์ ซึ่งมีติดไว้ทุกบ้าน เท่ากับว่าหมู่บ้านนี้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกันทั้งหมู่บ้าน พวกเรานี่ถึงกับยืนอึ้งเลย โอเค ... มันอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือจะมาใช้แบบไม่บันยะบันยังไม่ได้ แต่ถ้ารู้จักใช้ให้พอดีกับความจำเป็น เราว่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าจะเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตของเราในแต่ละวันแล้ว
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง
เซเลอรี่สด ๆ  กรอบ ๆ กำลังจะถึงมือคุณในไม่ช้า
 
           หลังจากทึ่งกับแผงโซล่าเซลล์ของชาวอาข่าไปแล้ว เราก็กำลังเดินทางต่อไปยัง โครงการหลวงแม่ปูนหลวง โดยเดินทางย้อนลงมา เพื่อไปยังอำเภอพร้าว ซึ่งเส้นทางก็ยังต้องวิ่งไปตามหุบเขาอยู่ จึงต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เพราะจะเจอเส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงก็เป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อเราได้เข้ามาถึงตัวโครงการ ก็ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าที่นี่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะมีส่วนของสำนักงาน ก็คือตรงที่เรายืนอยู่นี่ กับส่วนที่เป็นโรงคัดแยกผลิตภัณฑ์และแปลงเพาะปลูก ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็น่ารักมาก พาเราเดินไปดูโรงคัดแยกผลิตภัณฑ์และแปลงเพาะปลูกที่อยู่อีกที่หนึ่ง และตอนที่เข้าไปถึงก็พอดีกับที่เจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงกำลังแพ็คผักเซเลอรี่ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง สดๆ สวยๆ ลงกล่อง เพื่อส่งไปที่ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ พวกเราเลยมีโอกาสได้ดูขั้นตอนในการแพ็กผลิตผลเพื่อจัดส่งไปด้วย และนอกจากเซเลอรี่ โครงการหลวงแม่ปูนหลวง ก็ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น บล็อกโคลี่ ปวยเล้ง ต้นหอมญี่ปุ่น ฯลฯ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พาพวกเราเข้าไปดูแปลงองุ่นที่กำลังออกผลเรียงตัวเป็นพวงสวยอยู่เต็มร้านไปหมด
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน
ห้วยน้ำริน มือวางอันดับ 1 สุดยอดแหล่งปลูกเฟิร์น
 
 
 
               พวกเราใช้เวลาอยู่ใน โครงการหลวงแม่ปูนหลวง กันอีกสักพัก ก่อนที่จะออกเดินทางกันต่อ เพื่อไปยัง โครงการหลวงห้วยน้ำริน  ซึ่งต้องย้อนเข้ามาทางอำเภอเวียงป่าเป้า เพื่อไปยังบ้านแม่ขะจาน ส่วนทางก็จะมีลักษณะคล้าย ๆ เดิมคือ ชัน แคบ และคดเคี้ยว ทำให้กว่าจะมาถึงตัวโครงการก็เล่นเอามืดค่ำเลยทีเดียว ในเมื่อมาถึงมืดค่ำขนาดนี้แล้ว พวกเราเลยตัดสินใจพักกันที่นี่เลย สำหรับที่พักของโครงการหลวงห้วยน้ำริน จัดว่าสะอาดแล้วก็สะดวกสบายดี แถมยังอยู่ใกล้จุดที่เหมาะกับการชมวิวยามเช้าอีกต่างหาก เพราะพอเราตื่นมาตอนเช้าก็จะได้เห็นวิวสวยเลย และตรงบริเวณใกล้ๆ กันก็จะมีชาวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่มาพักที่นี่ ออกมาเล่นโยคะยืดเส้นยืดสายรับแสงแดดยามเช้ากันเต็มไปหมด ใจหนึ่งก็อยากจะไปเล่นกับเขาบ้างเหมือนกัน แต่คิดว่าหลังแข็งๆ แบบนี้นั่งดูอยู่เฉย ๆ คงจะดีกว่า  จากนั้นพวกเราก็เข้ามาบริเวณโครงการและแปลงเพาะปลูก ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของที่นี่ทำให้ทราบว่าที่นี่ส่งเสริมให้เพาะปลูกเฟิร์น เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีอากาศเย็นสบายที่สามารถปลูกพืชเมืองหนาวได้หลายชนิด เช่น ไม้ดอก ไม้ผล ไปจนถึงผักปลอดสารพิษต่างๆ แต่ที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของ โครงการหลวงห้วยน้ำริน ก็คือเฟิร์น ทั้งนี้ที่นี่ยังเป็นโครงการหลวงที่ปลูกเฟิร์นมากที่สุดในบรรดาโครงการหลวงทั้ง 38 โครงการ หลังจากเดินดูแปลงเพาะปลูกเสร็จ พวกเราก็เตรียมตัวออกเดินทางกันต่อ แต่ก่อนจะไปพวกเราก็แวบไปโฉบๆ ดูโฮมสเตย์ของเขากันอีกสักหน่อย แล้วขนาดแค่โฉบๆ นะเรายังรู้สึกชอบที่นี่มากๆ เลย เพราะดูแล้วน่าจะได้อยู่แบบวิถีชาวบ้านจริงๆ
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง
สับปะรดสี ดอกฟาแลนนอปซิส และโฮมสเตย์บ้านห้วยน้ำกืน
 
            พวกเราเดินทางออกจาก โครงการหลวงห้วยน้ำริน และย้อนไปตามเส้นทางหลัก เพื่อมุ่งหน้าไปยังอำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นทางเข้าโครงการหลวงห้วยโป่ง จะอยู่ห่างจาก โครงการหลวงห้วยน้ำริน ไปประมาณ 1 กม. เส้นทางเป็นถนนลาดยางสลับกับลูกรัง ซึ่งในบางช่วงนั้นก็ชันมาก บางช่วงก็เป็นโค้งคดเคี้ยวสลับกันไปมา ดังนั้นการขับขี่ไปจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น สำหรับที่นี่จะมีการส่งเสริมหลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือการเพาะปลูกและการท่องเที่ยว ซึ่งตรงที่เรายืนอยู่ตอนนี้จะเป็นส่วนส่งเสริมการเพาะปลูกที่เน้นการปลูกไม้ดอกเป็นหลัก เช่น สับปะรดสีหลากหลายสายพันธุ์ ฟาแลนนอปซิส (เป็นกล้วยไม้สกุลหนึ่ง ที่สวยงามทั้งรูปทรงดอกและสีของดอก มีหลากหลายสี) ที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ฯลฯ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังให้ความรู้เกี่ยวกับการที่จะทำให้สับปะรดสีมีสีสันสวยงาม สามารถทำได้ง่าย ๆ แค่นำไปตากแดด ยิ่งตากนานสีก็จะยิ่งเข้ม แต่ถ้าอยากให้สีอ่อน ๆ หน่อยก็ไม่ต้องนำไปออกแดดนานนักและการส่งเสริมอีกส่วนคือการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ บ้านห้วยน้ำกืน ซึ่งจะอยู่ห่างจาก โครงการหลวงห้วยโป่ง พอสมควรเลยทีเดียว เรื่องการเดินทางแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะจัดว่าวิบากและลำบากมากเลยทีเดียว ถนนยังเป็นถนนดิน มีหลุม มีบ่อ เยอะมาก ระหว่างทางที่ขี่ไปก็ต้องคอยจอดถามทางจากชาวบ้านไปเรื่อย ๆ กว่าจะมาถึงกันได้ก็เล่นเอาเกือบหมดแรงกันเลยทีเดียว
 
       แต่เมื่อเข้ามาถึง หมู่บ้านส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บ้านห้วยน้ำกืน ก็ทำให้พวกเราประทับใจมาก ดูเป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่แล้วก็ดูสะอาดมาก โดยที่นี่ก็จะส่งเสริมให้เที่ยวแบบโฮมสเตย์เช่นกัน เราเดินเล่นในหมู่บ้านกันไปเรื่อย ๆ ก็มาเจอกับ ร้านไร่หยดน้ำค้าง Tea & Coffee เป็นร้านชาและกาแฟประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาที่เขาใช้เป็นชาที่เขาปลูกเอง รวมถึงแพ็คขายด้วย เจ้าของร้านบอกว่าต้นชาที่ปลูกอยู่มีอายุตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่าแล้ว นอกจากนี้ร้านยังมีจุดเด่นอีกอย่าง คือทุกคนสามารถนั่งชมวิวรอบหมู่บ้านได้ ในขณะที่นั่งดื่มชาอยู่ในร้าน บอกเลยว่าถ้าใครได้มาเห็นอย่างที่พวกเราเห็น จะพูดอะไรไม่ออกเลย นอกจากคำว่า "ความสุข"
 
         เราทุกคนต่างก็เสียดายที่มีเวลาน้อยไปหน่อย รู้สึกอยากอยู่ที่นี่ให้นานกว่านี้ อยากพัก อยากทำความรู้จัก อยากสัมผัสวิถีชีวิตของคนที่นี่ให้มากขึ้น แต่ไม่เป็นไร ถึงวันนี้เราจะยังไม่มีโอกาส แต่วันหน้าสักวันหนึ่งพวกเราจะต้องกลับมาพักที่นี่ให้ได้
         หลังจากที่พวกเรามีโอกาสได้สัมผัสกับโฮมสเตย์และวิถีชีวิตของชาวบ้าน ก็ทำให้รู้สึกได้ว่าการมาเที่ยวธรรมชาติและเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คน ก็ทำให้พวกเรามีความสุขได้มากเหมือนกัน หากเพื่อน ๆ มีโอกาส ลองมาเที่ยวแบบพวกเราดูสักครั้ง คุณอาจจะหลงรักธรรมชาติเหมือนกับพวกเราก็ได้