Blog-Tamroy-EP06-800x420
Lifestyle

ตามรอยพ่อขี่มอไซค์ไป 38 โครงการหลวง : โครงการหลวงห้วยลึก โครงการหลวงแกน้อย โครงการหลวงหนองเขียว โครงการหลวงอ่างขาง โครงการหลวงหมอกจ๋าม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก
เมื่อม้งยื่นฎีกา ขอพระราชทานที่ดินทำกิน
 
                 การเดินทางไปที่ โครงการหลวงห้วยลึก ในครั้งนี้ เราได้ใช้เส้นทางที่เข้าสู่อำเภอเชียงดาว แล้วยิงยาวไปอำเภอไชยปราการ โดยเริ่มที่ทางหลวงชนบท ชม.3052 ไปประมาณ 12 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายไปบนทางหลวงหมายเลข 1095 แม่มาลัย – ปาย อีก 9 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงชนบท ชม.3045 ขี่ต่อไปอีก 60 กม. โครงการหลวงห้วยลึก จะอยู่ซ้ายมือ ตั้งอยู่ติดกับถนนเส้นหลัก และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ไม่สูงมากนัก

                 โครงการหลวงห้วยลึก เป็นโครงการหลวงที่มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไม้ผล เช่น มะเขือดำ เสาวรส แต่ที่จะเน้นเป็นหลักเลยก็พวกไม้ดอก โดยเฉพาะดอกเบญจมาศ ซึ่งพวกเราก็มีโอกาสได้เข้าไปเดินดูที่แปลงปลูกด้วย เป็นจังหวะเดียวกับที่เจ้าหน้าที่กำลังเก็บและคัดแยกดอกเบญจมาศ เพื่อไว้นำส่งโครงการหลวง ถ้าเพื่อนๆ คนไหนได้มีโอกาสได้มาเยี่ยมชมที่นี่ เราขอแนะนำว่าน่าจะลองเข้ามาเดินชมที่แปลงปลูกดูนะเพราะมีดอกเบญจมาศสีสวย ๆ มามายหลายสี เห็นแล้วสดชื่นดีทีเดียวเชียวแหละสำหรับ โครงการหลวงห้วยลึก นี้มีประวัติความเป็นมาคือ เมื่อเดือนมีนาคม ของปีพ.ศ. 2521 ชาวเขาเผ่าม้งได้อพยพจากบ้านบ่อเหล็ก  อำเภอจอมทอง  จังหวัดเชียงใหม่   มาอยู่ที่บ้านห้วยลึก  เพราะเนื่องจากพื้นที่ทำกินเดิมไม่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก และได้ยื่นฎีกาถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อขอพระราชทานที่ดินทำกิน
 
                   ต่อมาในปีพ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เข้าไปช่วยเหลือชาวเขา ด้วยทรงเกรงว่าชาวเขาจะบุกรุกป่าและต้นน้ำลำธารมากขึ้นไปอีก จึงได้ร่วมกับกรมป่าไม้พิจารณาพื้นที่ทำกินที่ บ้านห้วยลึก ให้แก่ราษฎรชาวเขา  เหตุผลของการเลือกพื้นที่บ้านห้วยลึก ก็เพราะเป็นแหล่งพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ถูกบุกรุกตัดไม้ไปจนหมดป่า   หลังจากนั้นก็ได้มีชาวเขาเผ่าม้งจากบ้านป่าเกี๊ยะ อำเภอเชียงดาว และจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้อพยพเข้ามาสมทบอีก ส่วนชาวกะเหรี่ยงนั้นอาศัยอยู่บนพื้นที่อยู่แล้ว พวกเราเดินเล่นไปพร้อม ๆ กับเก็บภาพดอกเบญจมาศอีกสักพัก พอก้มมองนาฬิกาที่ข้อมือ ก็คิดได้ว่าน่าจะถึงเวลาที่พวกเราจะต้องเดินทางกันต่อสักที
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย
บ้านพักรับรองราคาเบา ๆ ผักสด ๆ กับน้ำพริกปลากระป๋องรสเด็ด
 

                          หลังจากที่เราเดินทางไปยังเราไป โครงการหลวงห้วยลึกแล้ว จุดหมายที่เราจะเดินไปกันต่อก็คือ  โครงการหลวงแกน้อย โดยเรายังคงใช้เส้นทางเดิม เพิ่มเติมคือ ความลาดชันที่เริ่มมีขึ้นพอสมควรเลยทีเดียว แถมยังวิ่งอยู่บนเขาตลอด แต่สำหรับเรามันคุ้มนะ ถ้ามันได้แลกกับการที่มีวิวสวย ๆ ขนาบข้างเราเวลาเดินทางแบบนี้ม้ผลที่ โครงการหลวงแกน้อย ส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะปลูก หลักๆ คือ เคพกูสเบอร์รี่ โดยชาวบ้านจะปลูกในแปลงเพาะปลูกของตัวเอง แล้ววันนี้พวกเราก็โชคดีที่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ พวกเราเดินชมกันจนเย็นย่ำเลยตกลงกันว่าคืนนี้เราจะนอนพักกันที่นี่แหละ บ้านพักรับรองของ โครงการหลวงแกน้อย เป็นอะไรที่พวกเราชอบมาก บอกได้คำเดียวว่าโคตรแสนจะคุ้มเลย!! บ้านพักทั้งหลังนี่รู้ไหมเขาคิดราคาเท่าไหร่ ? คิดต่อหัวตกคนละ 100 บาท และอาหารก็เช่นกัน แต่หัวละร้อยนี่คือกินกันอิ่มแปล้ พุงกางเลยนะ ซึ่งก็เป็นเมนูบ้านๆ อาหารไทยๆ ธรรมดาๆ นี่ล่ะ แต่อร่อยมาก!! ขอบอก!! โดยเฉพาะน้ำพริกปลากกระป๋อง ที่กินกันชามเดียวไม่พอ ต้องสั่งมาใหม่อีก 2 -3 รอบเลยทีเดียว
                           วันรุ่งขึ้นพวกเราตื่นกันแต่เช้า ก่อนที่จะออกตัวไปกันต่อ ก็ได้เดินไปดูแปลงปลูกผักอินทรีย์ ทำให้ไปสะดุดตากับดอกไฮเดรนเยียเข้า เป็นดอกไม้ที่สวยงามมาก ชอบอากาศเย็น จึงเหมาะมากกับพื้นที่ที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
ดอกกอลิโอซ่า หรือ ดอกดองดึง มือ 1 ของโครงการหลวง และ เสามะเนาชะโดง สัญลักษณ์ชาวคะฉิ่น
              ระหว่างทางเราก็ได้พบกับทะเลหมอกสวยงามมาก จนอดใจไม่ไหวต้องพากันจอดรถแล้วลงเก็บภาพเสียหน่อย แล้วค่อยเดินทางต่อไปที่ โครงการหลวงหนองเขียว โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 1178 แม่ข้อน – บ้านหลวง ขับไปประมาณ 35 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1340 ขี่ไปอีกประมาณ 6 กม.
สำหรับที่นี่จะส่งเสริมให้ปลูกไม้ผล ไม้ดอก พืชไร่ พืชผัก ซึ่งก็จะคล้าย ๆ กันกับโครงการหลวงอื่น แต่ที่ โครงการหลวงหนองเขียว มีไม่เหมือนที่อื่นก็คือ ดอกกอลิโอซ่า หรือเรียกง่ายๆ ว่า ดอกดองดึง  ที่เพิ่งเริ่มส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกันเมื่อปีพ.ศ. 2556 นี่เอง นับเป็นไม้แปลกใหม่ที่สร้างมูลค่า และทำรายได้ให้ชาวบ้านได้เป็นกอบเป็นกำ อีกทั้งเป็นดอกไม้ที่สร้างรายได้ให้โครงการหลวงของเราเป็นอันดับต้น ๆ ของสายงานดอกไม้ด้วยแต่ก่อนจะออกจาก โครงการหลวงหนองเขียว เราก็ไม่ลืมที่จะแวะไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างหน้าตาแปลกๆ ที่เราเห็นตั้งแต่ตอนมาถึงเมื่อวาน จนทราบว่านั่นคือ เสามะเนาชะโดง ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ ทั้งศูนย์รวมจิตใจ และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของชาวเขาเผ่าคะฉิ่น
 
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สัมผัสอากาศหนาว เฝ้ามองทะเลหมอก ที่อ่างขาง

 
          วันนี้พวกเราต้องขี่รถคดเคี้ยวอยู่บนเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งไปสูงก็ยิ่งต้องระมัดระวังให้มาก เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ตัวเราก็ต้องเตรียมการให้พร้อมทั้งคน ทั้งรถด้วย เราขี่รถไปตามทางหลวงหมายเลข 1340 ระยะทางประมาณ 36 กม. แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลย 1249 แม่งอน – หนองเต่า ใช้ระยะทางอีกประมาณ 6 กม. การเข้าชม สถานีเกษตรฯ อ่างขาง จะต้องเสียค่าเข้าคนละ 50 บาท แต่เมื่อได้เข้ามาแล้วก็พบว่าที่นี่เป็นอีกหนึ่งโครงการหลวงที่กว้างมากเลยทีเดียว แล้วก็จะมีแปลงสาธิตการปลูกพืชชนิดต่างๆ เช่น พลับ บ๊วย สตรอว์เบอร์รี เป็นต้น รวมถึงดอกไม้สวย ๆ นานาพันธุ์ ใครที่ชอบถ่ายภาพ ถ้าได้มาเที่ยวที่นี่คงจะสนุกทั้งคนถ่าย คนถูกถ่ายเลย  สำหรับวันนี้พวกเราก็ได้ตัดสินใจเช่าเต็นท์นอนกันที่นี่ เพื่อที่จะสัมผัสอากาศหนาว แล้วก็รอดูทะเลหมอกยามเช้า ซึ่งในวันถัดมาพวกเราก็รีบตื่นกันแต่เช้า เพื่อมาเฝ้ารอดูความสวยงามของทะเลหมอกตรงบริเวณจุดจอด ฮ. (เฮลิคอปเตอร์) และมันคุ้มค่ากับการรอคอยมากทีเดียว เพราะมันช่างสวยงามจนสะกดพวกเราทุกคนให้ยืนนิ่ง แล้วมองมันอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน
 
 
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม
เพราะเป็นพื้นที่ราบ หมอกจ๋ามเลยไม่มีหมอก และปลูกไม้เมืองหนาวไม่ค่อยได้
                    เมื่อยืนตะลึงกันเสร็จแล้ว พวกเราก็ต้องรีบเดินทางไปยัง โครงการหลวงหมอกจ๋าม ต่อ เพราะระยะทางจาก สถานีเกษตรฯ อ่างขาง มาที่นี่ก็ถือว่าไกลกันโขอยู่ ถือเป็นการขี่รถยิงยาวเลยก็ว่าได้ เพราะเราออกสตาร์ทจากทางหลวงหมายเลย 1249 แม่งอน – หนองเต่า ยาวไปจนเข้าทางหลวงหมายเลข 1089 ผาเดื่อ – ห้วยหินฝน รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 81 กม.
                    โดย โครงการหลวงหมอกจ๋าม อยู่ในพื้นที่ราบ ทำให้ปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวไม่ค่อยได้ ที่นี่จึงมีการส่งเสริมให้ปลูกฟักทองพันธุ์ญี่ปุ่น แล้วก็พันธุ์บัตเตอร์นัท แต่กว่าจะเข้าไปถึงแปลงปลูกของชาวบ้านได้ก็เล่นเอาเหงื่อตกเหมือนกัน เพราะอยู่ไกลจากศูนย์พอสมควร แถมเรายังต้องขี่รถข้ามน้ำไปอีก ซึ่งในตอนแรกเราก็กังวลกันอยู่ว่ารถออโตเมติกจะไหวไหม แต่พอเอาเข้าจริง ก็สามารถขี่ผ่านไปได้อย่างสบาย ๆ ไม่มีติดขัดหรือกระตุกเลยแม้แต่น้อย เมื่อเข้าไปถึงแปลงปลูกของชาวบ้าน และเดินชมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็สังเกตเห็นว่าพวกชาวบ้านเขามีกิจกรรมยามว่างที่ทุกคนช่วยกันทำอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือการเย็บตุ๊กตาช้างเพื่อเอาไว้ขายเป็นรายได้เสริมนั่นเอง
                    หลังจากที่พวกเราได้เห็นธรรมชาติที่สวยงาม ประเพณีท้องถิ่นที่มีคุณค่า ทำให้พวกเราคิดว่าสิ่งเหล่านี้ควรถูกอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้และสืบสานกันต่อไป