นายองอาจ ฉัตรวรชัย ผู้จัดการ บริษัท เอส.วาย.เค. ออโต้พาร์ต อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ได้กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนา และผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมว่า “ก่อนอื่นทางบริษัท เอส.วาย.เค. ออโต้พาร์ต อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด รู้สึกเป็นเกียรติ และขอขอบคุณบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ที่มอบความไว้วางใจให้บริษัทฯ ของเราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฉลองครบรอบ 60 ปี ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ในการผลิตหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ผ่านมาตรฐาน (มอก.) เพื่อนำไปบริจาคในกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ของไทยยามาฮ่า ปัจจุบันโรงงานของเรา ถือเป็นโรงงานที่มีศักยภาพสูง และมีกำลังการผลิตกว่า 7,000 ใบ ต่อวัน มียอดขายเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งในปี 2566 มียอดขายหมวกนิรภัยกว่า 1,000,000 ใบทั่วโลก โดยมียอดจำหน่ายในประเทศไทยประมาณ 700,000 ใบ ต่างประเทศประมาณ 300,000 ใบ และเป็นโรงงานในประเทศไทยที่ผลิตหมวกนิรภัยตามมาตรฐานการผลิตเลขที่ มอก. 369-2557 ที่ถูกปรับปรุงใหม่ โดยยึดถือมาตรฐานการผลิตของยุโรปคือมาตรฐาน ECE-2205 และมาตรฐานการผลิตจากสหรัฐอเมริกาคือมาตรฐาน DOT FMVSS-218 ซึ่งสามารถผลิต และจำหน่ายหมวกนิรภัยได้มาตรฐานส่งออกไปต่างประเทศ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหมวกนิรภัยโดยทั่วไปที่ได้รับมาตรฐานนี้มีขนาดเล็กสุดเริ่มต้นที่เส้นรอบวงศีรษะ 50 เซนติเมตร ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ทดลองผลิต และจำหน่ายหมวกขนาดเส้นรอบวงศีรษะขนาด 50 เซนติเมตร แล้วพบว่ายังไม่ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานที่มีอายุน้อย หรือสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะเล็กเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีขนาดที่เล็กเกินไป โดยจะใช้ได้แต่เด็กเล็กที่ยังไม่เหมาะแก่การโดยสารรถจักรยานยนต์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับเพิ่มขนาดหมวกให้มีขนาดเส้นรอบวงศีรษะที่ 54 เซนติเมตร ทำให้เด็กที่มีอายุระหว่าง 7 - 11 ปี รวมทั้งสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะเล็ก สามารถสวมใส่ได้อย่างปลอดภัย
ซึ่งจากโครงการของทางไทยยามาฮ่ามอเตอร์ในครั้งนี้ ทางบริษัทฯ จะต่อยอดการผลิต และจำหน่ายหมวกนิรภัยขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับเด็ก เยาวชน และสุภาพสตรีที่มีขนาดศีรษะขนาดเล็กในราคาที่เหมาะสม เพื่อสนองนโยบายภาครัฐ ในการช่วยป้องกันการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน”
นายอนุรักษ์ ชัยวิเชียร ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมมาตรฐาน 6 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่างถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “ในปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตและนำเข้าหมวกนิรภัย ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.369-2557 ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล UNECE Regulation No. 22 โดยครอบคลุมหลายด้าน เพื่อประเมินความปลอดภัย และความทนทานของหมวกนิรภัย มีรายละเอียดการทดสอบ เช่น การทดสอบการดูดกลืนแรงกระแทก การทดสอบความคงรูป การทดสอบสายรัดคาง การทดสอบการคงตำแหน่งบนศีรษะ การทดสอบคุณลักษณะแผ่นบังลม (ถ้ามี) โดยการทดสอบเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่าหมวกนิรภัยที่ผ่านมาตรฐาน มอก. 369-2557 มีความปลอดภัยสูงสุดเมื่อใช้งานจริงบนท้องถนน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดการกระแทกหรืออุบัติเหตุ ซึ่งมาตรฐานนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2559 เป็นต้นมา โดยผู้ผลิต และผู้นำเข้าหมวกนิรภัย จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. ก่อนที่จะผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายจ่ายแจก และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 อย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้ บทลงโทษเป็นไปเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีคุณภาพ สำหรับการเลือกซื้อหมวกนิรภัยสำหรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ควรพิจารณาสังเกตเครื่องหมาย มอก. พร้อม QR Code ที่แสดงอยู่บนผลิตภัณฑ์หรือกล่องบรรจุ ที่ผู้บริโภคสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบรายละเอียดผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. ได้ ทั้งนี้ หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนด สามารถแจ้งหรือร้องเรียนมาที่ สมอ. ผ่านเว็บไซต์ www.tisi.go.th และอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. หากเกิดอุบัติเหตุอาจได้รับอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แต่หากใช้หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานก็จะช่วยลดความสูญเสียลงได้”
|